การเมือง “อิตาลี” ป่วนอียู เขย่าโลกต่อจาก “กรีซ”

ปัญหาการเมืองในอิตาลี ซึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงกระแทกครั้งใหญ่ต่อตลาดและเศรษฐกิจโลก ภายหลังจาก “เซอร์จิโอ แมตตาเรลลา” ประธานาธิบดีอิตาลี ใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ไม่ให้ นายเปาโล ซาโวนา เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตามที่พรรคไฟฟ์สตาร์และพรรคสันนิบาต ซึ่งเป็นสองพรรคที่มีแนวคิด “ไม่นิยม” การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เสนอชื่อมา

ประธานาธิบดีอิตาลีให้เหตุผลในการวีโต้ว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้ นายซาโวนาเคยขู่ว่าจะนำอิตาลีออกจากการใช้เงินสกุลยูโร หรือออกจากยูโรโซน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อาจสร้างอันตรายต่ออิตาลี ดังนั้นเขาจึงมีสิทธิวีโต้การเสนอชื่อนายซาโวนา เพราะทางเลือกพื้นฐานสำคัญสำหรับอิตาลี คือการยังคงเป็นสมาชิกอียู

ทางด้านพรรคไฟฟ์สตาร์และสันนิบาต ซึ่งเป็นสองพรรคที่ได้คะแนนเสียงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ไม่ยอมเสนอชื่อคนอื่นมาแทนนายซาโวนา สถานการณ์เดดล็อกจึงเกิดขึ้น ประธานาธิบดีอิตาลีจึงแต่งตั้ง

นายคาร์โล คอตตาเรลลี อดีตเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งได้ฉายาว่า “มิสเตอร์กรรไกร” เพราะมีชื่อเสียงในการหั่นงบประมาณ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสองพรรคใหญ่ดังกล่าวทำให้เสียงไม่พอ จึงทำให้ประธานาธิบดีไม่มีทางเลือก จำต้องเตรียมนำเรื่องเข้าขออนุมัติจากสภา เพื่อจัดการ “เลือกตั้งใหม่” ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไม่เกินเดือนกันยายนนี้การเลือกตั้งใหม่นี้เอง ที่ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หวั่นเกรงกันว่า จะยิ่งทำให้สองพรรคที่มีแนวคิดไม่นิยมอียู และไม่นิยมการใช้เงินยูโรดังกล่าว หาเสียงด้วยการชูประเด็นออกจากอียูและเลิกใช้

เงินยูโรหนักข้อกว่าการเลือกตั้งครั้งแรก และอาจนำไปสู่การทำประชามติว่า จะ “อยู่” หรือ “ออกจากอียู” แบบเดียวกับที่สหราชอาณาจักรทำมาแล้ว ซึ่งนั่นจะสั่นสะเทือนอียูจนกระทบไปทั้งโลกอีกครั้ง

นอกจากนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหาติดขัดทางการเมืองจะซ้ำเติมเศรษฐกิจอิตาลี ที่ขณะนี้ถูกทับด้วยหนี้ก้อนมหาศาลมาเป็นเวลานานให้เข้าสู่วิกฤตมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และสุดท้ายแล้วอาจสร้างปัญหาลามไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลกหนักกว่ากรีซ

เพราะอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน และใหญ่กว่าเศรษฐกิจกรีซ 10 เท่า ปัจจุบันอิตาลีมีหนี้มากที่สุดในกลุ่มยูโรโซน โดย ณ ปีที่แล้ว มีหนี้ 2.3 ล้านล้านยูโร คิดเป็น 132% ของจีดีพี มากกว่าเยอรมนี2 เท่า และยังสูงกว่าหนี้ของกลุ่มยูโรโซนที่มีเพียง 87% ของจีดีพี

ความกังวลดังกล่าวทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง 0.7% พันธบัตรอิตาลีถูกเทขายอย่างหนักในวันอังคารที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา และนักลงทุน

หันไปซื้อพันธบัตรสหรัฐและเยอรมนีแทน ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐปรับตัวลงเกิน 500 จุด ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายช่วงบ่าย ก่อนจะฟื้นตัวเล็กน้อย

เมื่อปิดตลาด โดยติดลบที่ 391 จุด หรือ 1.58% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐลดลงเหลือ 2.82% จาก 3.12%

ยังไม่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อปัญหาของอิตาลี แต่ประเมินกันว่าหากจำเป็น อีซีบีอาจคงการกระตุ้นเศรษฐกิจเอาไว้

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สถานการณ์ของอิตาลีเท่ากับเป็นธงแดงเตือนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่ากรณีเบร็กซิตของอังกฤษ ตลาดเกิดการปรับฐาน

“โอลิเวียร์ บลังชาร์ด” อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นว่า อิตาลีจะไม่ส่งผลกระทบโดมิโนไปทั่วยุโรป เพราะยุโรปจะทำทุกทางเพื่อป้องกัน ดังนั้น ทั้งยุโรปและยูโรโซนจะยังสบายดี แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คืออิตาลีเอง โดยเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง