เอเชียกับ “ศตวรรษความชรา” สั่นคลอน “ดุลอำนาจ” โลก

ความชราภาพของประชากร เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงมาหลายปี เพราะนี่คือหนึ่งในแนวโน้มใหญ่ของโลกในอนาคต ที่หลายประเทศต้องเตรียมรับมือ ทั้งในด้านสุขภาพและการเงิน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนสูงวัย ซึ่งในเอเชียนั้นปัญหาดังกล่าวเด่นชัดมากในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รวมทั้งบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนอาจเรียกได้ว่า “เอเชียอยู่ในศตวรรษแห่งความชรา”

การมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นมาก แซงหน้าสัดส่วนประชากรหนุ่มสาววัยทำงาน จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นฐานทั้งด้านสังคม กลยุทธ์การทำธุรกิจ และนโยบายรัฐบาล ตลอดจนมีผลให้ดุลอำนาจในระดับภูมิภาคและโลกเปลี่ยนไป เพราะความชราเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ประเทศที่มีคนชราเพิ่มอย่างรวดเร็วเศรษฐกิจจะแคระแกร็นไม่เติบโต ส่วนประเทศที่มีวัยแรงงานมากเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้ ประชากรวัยทำงานหรือผู้มีอายุตั้งแต่ 15-64 ปี ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ขณะที่คาดหมายว่าประชากรโดยรวมทั้งประเทศจะเริ่มลดลงต้นปีหน้าเป็นต้นไป และภายใน ค.ศ. 2065 คาดการณ์ว่าโสมขาวจะกลายเป็นประเทศชราภาพที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับประเทศจีน แม้รัฐบาลจะไหวตัวด้วยการยกเลิกนโยบายการมีบุตรคนเดียวเมื่อปี ค.ศ. 2016 แต่ก็ดูจะช้าไปเพราะอัตราการเกิดเริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ซึ่งตามข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า ประชากรจีนวัยระหว่าง 16-59 ปี ลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และเมื่อปีที่แล้วประชากรวัยดังกล่าวมีจำนวนรวมกันต่ำกว่า 900 ล้านคนเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับอัตราการแต่งงานก็ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จนทำให้ธุรกิจที่ตอบสนองชีวิตคนโสดคึกคักมาก

ส่วนประเทศญี่ปุ่นไปไกลและรุดหน้ากว่าใครเพื่อนในปัญหาประชากรชรา โดยคนวัย 15-64 ปี เริ่มลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 อันเป็นห้วงเดียวกับที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วง “ทศวรรษที่สาบสูญ” ซึ่งเป็นสภาพที่เศรษฐกิจของประเทศชะงักงันต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ขณะที่ประชากรโดยรวมก็เริ่มลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008

องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเมินแนวโน้มประชากรวัยทำงานของ 3 ประเทศจากช่วงปี ค.ศ. 2020-2060 ไปในทางที่ไม่สดใสนัก กล่าวคือประเมินว่าประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นจะลดลง 30% เกาหลีใต้ลดลง 26% จีนลดลง 19% ส่วนคนวัยเกษียณ ซึ่งได้แก่ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนราว 30% ของประชากรทั้งหมดภายใน ค.ศ. 2060

ส่วนประเทศอื่นในเอเชีย ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย ล้วนมีแนวโน้มจะเดินรอยตาม 3 ประเทศดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่บ้างในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะสามารถขยายจำนวนประชากรวัยทำงานไปได้จนถึง ค.ศ. 2060 เป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกับอเมริกา ทำให้อเมริกามีความได้เปรียบในเชิงทฤษฎีเหนือจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญที่พยายามมีอิทธิพลครอบงำโลก

ดังที่กล่าวมาแล้ว ความชราภาพอย่างรวดเร็วของประชากร เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ สำหรับจีนที่เคยเป็นพระเอกในแง่การเติบโตอย่างมหัศจรรย์มาหลายสิบปี ถูกคาดหมายว่าระหว่าง ค.ศ. 2040 ถึง 2050 จีดีพีจะโตเพียง 1.5% น้อยกว่าอินเดียที่จะขยายตัว 3.7% และอเมริกา 2%

คำทำนายที่มืดมนเกี่ยวกับวิกฤตประชากรศาสตร์ ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและบริษัทต่าง ๆ เตรียมรับมือ อันเป็นไปตามตรรกะง่าย ๆ ที่ว่าเมื่อมีผู้บริโภคน้อยลงก็หมายถึงเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างจำกัด บริษัทก็ต้องลดการลงทุน นั่นก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจต่ำลง ๆ

คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นอยู่ในโหมดประหยัดเรียบร้อยแล้ว โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการออมของคนวัย 25-29 ปี เพิ่มขึ้น 38% จากเดิม 33% ส่วนคนวัย 30-34 ปี ออมเพิ่มขึ้น 44% จากเดิม 38% เนื่องจากพวกเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต

ปัญหาทางการเงินและสภาพแวดล้อมของสังคมสมัยใหม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ไม่อยากมีบุตร เช่น ในรายของหญิงเกาหลีวัย 30 บอกว่า อยากมีลูกสัก 1 คน แต่เธอและสามียังไม่มีบ้านของตัวเองเลย เมื่อไหร่ที่พูดถึงเรื่องเงิน ก็ต้องล้มเลิกความตั้งใจไปเลย

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสำหรับประเทศพัฒนาน้อยอื่น ๆ ในเอเชียควรดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาแบบเดียวกัน