เครื่องหมายการค้า “รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม” ช่วยสร้างการรับรู้ให้ภาคธุรกิจ

เมื่อวันที่ 15-16 ต.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) ได้จัดการประชุมเรื่อง “เครื่องหมายการค้า” ที่กรุงเทพฯ โดยงานครั้งนี้อยู่ภายใต้แผนงานของ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IPKey South-East Asia) ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากอียู นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมยังมีการหารือร่วมกับ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

โดยในปัจจุบัน บรรดาเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้มีการพัฒนาเครื่องหมายการค้า “รูปแบบใหม่” ที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตนเอง ทำให้สำนักงานเครื่องหมายการค้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสภาพการณ์เครื่องหมายการค้าทั่วโลก

ขณะเดียวกัน เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงยังจำเป็นต้องได้รับการปกป้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะจากการล่วงละเมิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจดทะเบียนที่ไม่สุจริต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหมายการค้าได้ร่วมพูดคุยกันในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ นายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าวแถลงต่อสื่อมวลชนของไทยว่า เครื่องหมายการค้ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถเป็นตัวระบุและจำแนกผลิตภัณฑ์และบริการได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่า สร้างการรับรู้ให้กับเจ้าของเครื่องหมายการค้าด้วย

โดยนายเกียเรอิโร กล่าวยกตัวอย่างถึง เครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิม จากการเติบโตและพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้เรามีการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เครื่องหมายการค้าแบบภาพสามมิติ (3D), โฮโลแกรม เสียง และ กลิ่น

ตัวอย่างบริษัทที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ เสียงสิงโตคำรามของค่ายภาพยนตร์ MGM และ ภาพยนตร์ของค่าย ทเวนตี้เซนจูรีฟอกซ์ (20th Century Fox) ที่ใช้ดนตรีไตเติลภาพยนตร์ นอกจากนี้สำหรับการใช้เครื่องหมายการค้าแบบอื่นๆ เช่น “3 มิติ” มีบริษัทโคคา-โคล่า ที่เลือกใช้ไปแล้ว

นอกจากนี้ นายเกียเรอิโร ได้กล่าวถึงความท้าทายสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเครื่องหมายการค้าท่ามกลางโลกดิจิทัล มองว่าการบังคับใช้เครื่องหมายการค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศจำเป็นต้องปรับกฎหมายและกฎระเบียบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพด้วย

รวมไปถึงความท้าทายจากการปราบปรามปัญหาสินค้าปลอม หรือ สินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการบังคับใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งได้ย้ำถึงภาคธุรกิจให้คำนึงถึงการใช้เครื่องหมายการค้า ยิ่งจดทะเบียนเร็วเท่าไหร่ การป้องกันเหตุการละเมิดลิขสิทธิ์ยิ่งมากเท่านั้น

ทั้งนี้ นายฟิลิปป์ ดูปุย หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าแห่งคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของเครื่องหมายการค้าว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง “เครื่องหมายการค้าถือว่ามีความสำคัญอย่างชัดเจน จากข้อมูลการศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของอียู และสำนักงานสิทธิบัตรในยุโรป ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมที่เข้มงวดกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถสร้างงานได้ 29.2% ของงานทั้งหมดในสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2014-2016 โดย 22% เป็นงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องหมายการค้าอย่างเคร่งครัด”