ส่อง 5 ธุรกิจ “ฟ้าหลังฝน” ก้าวกระโดดหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19

REUTERS/Tingshu Wang

การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “ซาร์ส” ปี 2002-2003 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนมหาศาล ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ธุรกิจจีน สามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำได้ในปัจจุบัน ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในปัจจุบัน ก็ถูกมองว่าอาจจะเป็นจุดพลิกผันให้ธุรกิจจีนหลายประเภท ก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจแนวหน้าได้

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า การแพร่ระบาดของโรคซาร์สส่งผลให้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีน ขณะนั้นได้รับประโยชน์ ชาวจีนจำนวนมากหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จากความหวาดกลัวโรคระบาด และยังคงนิยมใช้บริการออนไลน์แม้โรคระบาดจะผ่านพ้นไปแล้ว “อาลีบาบา” เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้ประโยชน์ จากการที่บริษัทเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “เถาเป่า” ครั้งแรกระหว่างเกิดโรคซาร์ส ในปี 2003 ซึ่งได้รับความนิยมจนสามารถโค่น “อีเบย์” อีคอมเมิร์ซอเมริกันที่ครองตลาดจีนอยู่ในขณะนั้น และส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทอาลีบาบามีมูลค่าเกือบ 573,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเถาเป่ากลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในโลก

เช่นเดียวกับ “เจดีดอทคอม” ที่ก้าวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงโรคซาร์สระบาด โดยนำเสนอบริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วและขยายประเภทสินค้าออกไป จนปัจจุบันกลายเป็นอีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของจีน

ส่งผลให้นักวิเคราะห์จับตาว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้จะทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ “ซุน เมิ่งจื่อ” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทที่ปรึกษาอนาไลซีส ระบุว่า “การระบาดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้อาจเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมจีนมีการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น และเป็นแรงผลักดันธุรกิจออนไลน์ครั้งใหญ่อีกครั้ง”

โดยมีธุรกิจออนไลน์ 5 ประเภทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการระบาดของไวรัส ธุรกิจแรก คือ “การศึกษาออนไลน์” เนื่องจากหลายโรงเรียนหันมาเปิดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่โรงเรียนยังคงต้องปิดทำการเพื่อยับยั้งโรคระบาด

วันที่ 10 ก.พ. เป็นวันเปิดภาคเรียนของจีน มีนักเรียนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศเข้าร่วมการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์ม “ติงทอล์ก” ของอาลีบาบา เช่นเดียวกับ “คลาสอิน” แพลตฟอร์มชั้นเรียนออนไลน์ของบริษัทอีอีโอ ที่มีผู้ใช้งานราว 2 แสนคน/วัน ก่อนที่ยอดผู้ใช้งานจะพุ่งเป็น 2 ล้านคน/วัน หลังการแพร่ระบาด ข้อมูลของไอรีเสิร์ชคอนซัลติ้ง กรุ๊ประบุว่า ปี 2018 ตลาดการศึกษาออนไลน์ของจีนขยายตัวถึง 25.7% อยู่ที่ 35,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าตลาดการศึกษาออนไลน์จีนจะเติบโตเฉลี่ย 16-24% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม “ซง จุนโบ” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของอีอีโอประเมินว่า ผู้ใช้งานอาจลดลงราว 80% หลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย แต่ขณะนี้เป็นโอกาสสร้างการรับรู้ในวงกว้างและเพิ่มแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการฝึกฝนผู้สอนในการสอนออนไลน์

ธุรกิจประเภทที่ 2 คือ “ธุรกิจส่งสินค้าอุปโภคบริโภค” รวมถึงอาหารสดและวัตถุดิบประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ ที่เดิมผู้คนนิยมไปเลือกซื้อด้วยตนเองมากกว่า แต่เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้คนกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย และเลือกที่จะปรุงอาหารรับประทานเองเพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร โดย “เหม่ยถวน เตี่ยนผิง” แพลตฟอร์มส่งสินค้าของจีน มียอดผู้สั่งซื้อวัตถุดิบอาหารเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ในช่วงวันที่ 19 ม.ค.-19 ก.พ.

“ระบบทำงานออนไลน์” เป็นธุรกิจประเภทที่ 3 ที่รับประโยชน์โดยตรง เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดทำการได้ ทำให้ความต้องการแพลตฟอร์มทำงานจากที่บ้านเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่าง “เทนเซ็นต์” ที่เพิ่งเปิดตัวระบบประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ “เทนเซ็นต์ มีตติ้ง” เมื่อปลายปี 2019 พบว่าในช่วง 29 ม.ค.-6 ก.พ. มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นกว่า1 แสนบัญชี

เช่นเดียวกับยอดดาวน์โหลด “แอปพลิเคชั่นทำงานทางไกล” ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “ติงทอล์ก” ที่เปิดบริการประชุมทางวิดีโอแบบสตรีมมิ่งรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้มากถึง 300 คน มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 356% รวมถึง “วีแชท เวิร์ก” เพิ่มขึ้น 171% และ “ลาร์ค” ที่เพิ่มขึ้นถึง 650%

ธุรกิจประเภทที่ 4 ที่มีโอกาสจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด คือ “ธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 5 จี” เนื่องจากเกิดแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ที่ต้องการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือการประชุมทางไกล

“หยาง กวั่ง” ผู้อำนวยการกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจ สตราติจี้ อนาไลติกส์ แนะนำว่า รัฐบาลจีนควรติดตั้งสถานีฐานการส่งสัญญาณ 5 จี ให้ได้ 6-8 แสนสถานี ภายในปีนี้ โดยระบุว่า ผลกระทบของโรคระบาดส่งผลให้ความต้องการเครือข่าย 5 จี เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน การแพทย์ การรักษาความปลอดภัย และธุรกิจบริการทำงานทางไกล

และธุรกิจที่มีโอกาสประเภทสุดท้าย คือ แพลตฟอร์ม “ซูเปอร์แอป” โดยนักวิเคราะห์มองว่า เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจออนไลน์อาจจะเผชิญความท้าทายในการรักษาฐานลูกค้า ซึ่งผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นที่ครอบคลุมบริการหลากหลาย หรือ “ซูเปอร์แอป” คือ ทางออก

ขณะนี้ได้มีบางแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาสู่การเป็นซูเปอร์แอปอย่าง“วีแชท” ที่มีบริการหลากหลายทั้งแชต เกม ช็อปปิ้ง ชำระเงินออนไลน์ ไปจนถึงการลงทุน ภายในแพลตฟอร์มเดียว หรือแอปพลิเคชั่นข่าวสาร “จินหริ โถวเถี่ยว” ของ ไบค์แดนซ์ ก็เริ่มให้บริการส่งสินค้าออนไลน์ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และยารักษาโรค

สิ่งเหล่านี้จะทำให้กิจกรรมแบบออฟไลน์ทั้งหลาย เชื่อมโยงกับออนไลน์และกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ต่อเนื่องไปในอนาคต แม้สถานการณ์โรคระบาดจะสิ้นสุดลง