คำแนะนำ โจเซฟ สติกลิตซ์ “แจกเงิน” ประชาชนสู้วิกฤตไวรัส

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

จนถึงนาทีนี้การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ร้ายแรงเกินความคาดหมาย เมื่อศูนย์กลางการแพร่ระบาดย้ายจากประเทศจีนไปยังกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก โดยชาติยุโรปที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีผู้ติดเชื้อติดอันดับ 10 อันดับแรกของโลก ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โดยรายที่หนักสุดคือ อิตาลี ส่งผลให้หลายชาติยุโรปถึงขั้นปิดประเทศ ส่วนสหรัฐอเมริกาติดเชื้อเกิน 6 พันคน เสียชีวิตทะลุ 100 คน ทำให้สุดท้ายต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

การระบาดของไวรัสมรณะ สร้างความตื่นตระหนก ในระดับที่เรียกได้ว่าไม่เคยเห็นมาก่อนในยุคปัจจุบัน ส่งแรงกระแทกอย่างรุนแรงไปยังเศรษฐกิจโลก ภาพที่เห็นชัดคือ ตลาดหุ้น ที่พากันดิ่งลงถ้วนหน้า ในอัตรา 8-10% ต่อวัน เช่น ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐ เริ่มดิ่งลงมากตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นดาวโจนส์ก็ยังเดินหน้าร่วงต่อเนื่อง แม้จะมีบางวันสลับขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยส่วนที่หายไป

ในความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินนอกวาระประชุมปกติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม โดยหั่นลงไปมากถึง 0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 1-1.25% แต่กลับทำให้ตลาดหุ้นตกใจ ร่วงลงไปอีก และในสัปดาห์ต่อมา เมื่อทรัมป์ประกาศแบนคนจากยุโรปทั้งหมดเมื่อวันที่12 มีนาคม เพื่อสกัดไวรัส กดดันให้ดาวโจนส์ดิ่งหนัก 2,300 กว่าจุด เลวร้ายที่สุดนับจากการพังถล่มครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 ที่เรียกว่า แบล็กมันเดย์

เมื่อสถานการณ์ไวรัสรุนแรงในอัตราเร่งตัวขึ้น เฟดสร้างความช็อกให้กับตลาดอีกครั้งด้วยการมีมติปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างฉุกเฉิน 1% เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแตะ 0% เป็นการปรับลดนอกวาระประชุมปกติ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม ทำสถิติใหม่ในการดิ่งลง 2,997 จุด หรือ 12.9% ปิดตลาดที่ 20,188 จุด หากเทียบกับจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เท่ากับว่าดาวโจนส์ลดลงไป 31.7% นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงมากขนาดนี้ในแง่ของเปอร์เซ็นต์

สำหรับเฟดนอกจากจะลดดอกเบี้ยลงอย่างมากและรวดเร็วแล้ว ยังประกาศอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในวงเงินประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนในฟากของรัฐบาล มาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด จะใช้วงเงินตั้งแต่ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปการช่วยเหลือโดยตรงผ่านการแจกเงินแก่รายบุคคล หรือลดภาษี รวมทั้งในรูปกองทุนฉุกเฉิน หรือสินเชื่อเพื่อช่วยธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตลาดจะไม่ตอบสนองทางบวกมากนัก ตลาดหุ้นยังปรับลงต่อ ทั้งนี้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ เชื่อว่าแม้จะใช้วงเงินถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานจะได้รับผลกระทบมากอยู่ดี เช่น มาร์ก แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มูดี้ส์ อนาไลติกส์ คาดว่าไตรมาส 1 และ 2 จีดีพีของสหรัฐจะลดลง 2-3% ส่วนไตรมาส 3 จะเสมอตัว พอถึงไตรมาส 4 จึงจะเริ่มกลับมาเติบโตที่ 1.5%

โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชี้ว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่ต่างออกไปจากครั้งอื่น ๆ เพราะไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องดีมานด์ของตลาด แต่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ทำให้กิจการต่าง ๆ ต้องปิดตัวเพื่อควบคุมไวรัส ดังนั้น การสร้างดีมานด์ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด

สติกลิตซ์เสนอแนะว่า มาตรการที่จะได้ผลคือ มาตรการการคลังแบบเจาะจง โดยมุ่งช่วยเหลือกลุ่มที่ตกอยู่ภายใต้ความเครียดสูง “เราอาจจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ที่อาจจะเรียกว่าเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เพื่อแจกให้กับประชาชนที่กำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะเครียดสูง แบบที่ฮ่องกงทำ การใช้จ่ายเงินมากของรัฐบาลท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้โดยไม่ต้องสนใจเรื่องการขาดดุลเป็นสิ่งถูกต้อง ปัญหาขาดดุลเป็นสิ่งที่เราต้องไปจัดการในอนาคต ตอนที่เราเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เราไม่ถามว่าเรามีเงินจ่ายไหม เราแค่ใช้จ่ายเงินตามความจำเป็น”

ข้อเสนอแนะของสติกลิตซ์สอดคล้องกับมาตรการแจกเงินของหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ซึ่งแจกเงินให้ประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 18 ปี คนละ 1 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง