โลกระทึกนโยบาย “ไบเดน” หวั่นเจอภาษีคาร์บอนหฤโหด

REUTERS/Charles Platiau

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีนี้เป็นที่จับตาของทั้งโลก เพราะไม่เพียงเป็นการเลือกผู้นำที่จะชี้ชะตาสหรัฐเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการคงไว้หรือปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของนโยบายรัฐบาลสหรัฐ ในฐานะประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งที่มีผลกระทบไม่ว่าจะแง่ดีหรือร้ายต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

หนึ่งในนั้นคือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกันสิ้นเชิงระหว่าง 2 ผู้สมัคร ที่มีผลต่อการค้าระหว่างประเทศโดยตรง สร้างความหวาดหวั่นให้ประเทศอุตสาหกรรม ทั่วโลกที่อาจต้องเผชิญหน้ากับกฎระเบียบที่เข้มงวดและมาตรการภาษีของสหรัฐ

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า แคมเปญหาเสียงของ “โจ ไบเดน” ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ชูนโยบายพลิกกลับไปให้ความสำคัญกับวาระด้านสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง “จีนและอินเดีย” ที่ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายนี้

นโยบายของไบเดน จะเป็นการพลิกกลับการบริหารในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้สหรัฐ กลับไปเข้าร่วมในความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ “ความตกลงปารีส” หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามถอนตัวไปในปี 2019 ไม่เพียงเท่านั้น

ไบเดนยังมีแผนยุติการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันในประเทศที่สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย

Advertisment

แต่นโยบายที่สำคัญและจะส่งผลกระทบ ต่อผู้ส่งออกไปยังสหรัฐคือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (a border carbon adjustment mechanism) ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับของสหภาพยุโรปที่กำลังพิจารณาบังคับใช้อยู่ในขณะนี้

โดยจะเป็นการใช้มาตรการภาษีเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งในสหรัฐเอง และประเทศผู้ส่งออก ต้องเผชิญกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดและต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ปลอดคาร์บอนตามที่รัฐบาลกำหนด

จากข้อมูล Union of Concerned Scientists ระบุว่า ในปี 2018 จีนปล่อยคาร์บอนกว่า 10,000 ล้านตัน ขณะที่อินเดียก็มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากเกือบ 3,000 ล้านตัน ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐในอัตราค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ “มอร์แกน สแตนลีย์” ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติวิเคราะห์ว่า อัตราภาษีที่เรียกเก็บอาจอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตอะลูมิเนียมในจีน อินเดีย และออสเตรเลียเพิ่มขึ้นกว่า 20% และจะส่งผลให้ประเทศทีมีการควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้ดีกว่าอย่างประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักร จะได้เปรียบประเทศอื่น จากความสามารถส่งออกอะลูมิเนียม รวมถึงเหล็กกล้าไปยังสหรัฐได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

Advertisment

แม้ว่านโยบายนี้จะทำให้ประเทศอุตสาหกรรมหลักของโลกอย่างจีนและอินเดีย เจอโจทย์ใหญ่ แต่ก็เป็นโอกาสในการยกเครื่องอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เพิ่งประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

ขณะที่ภาคธุรกิจอินเดียมองเห็นโอกาสในการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำไปยังสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องประดับและเคมีภัณฑ์

“เคท โครลีย์” ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ระบุว่า มาตรการภาษีคาร์บอนจะเป็นอุปสรรคและเป็นตัวเปลี่ยนเกมการค้าระหว่างประเทศ “เราอยู่ในจุดที่สินค้าคาร์บอนสูงกำลังจะต้องสูญหายไป และสินค้าคาร์บอนต่กำลังจะเข้ามาแทนที่ในไม่ช้า”