จับตานโยบายเศรษฐกิจจีน 2021 พึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในเดือนธันวาคมของทุกปี จีนจะมีการประชุมผู้นำระดับสูงเพื่อกำหนดและลำดับความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสำหรับปีถัดไป ซึ่งในกรณีของปีนี้ก็คือการกำหนดแนวนโยบายสำหรับปี 2021 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

การประชุมดังกล่าว เรียกว่า การประชุมงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ในคืนวันเดียวกัน มีแถลงการณ์สรุปผลการประชุมออกเผยแพร่ตามหลังมาเช่นที่ทำเป็นประจำทุกปี

ถือเป็นการนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีที่กำหนดกันเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ออกมาปรับใช้ในทางปฏิบัติ

เมื่อปี 2019 ที่ประชุมกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจในปี 2020 ไว้ที่การต่อสู้กับความยากจนและการแก้ปัญหามลพิษ ขณะที่เป้าหมายที่กำหนดในปีนี้เป็นการกำหนดในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าปีที่ผ่านมามาก นั่นคือการมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมภายในประเทศ, การเพิ่มการพึ่งพาตนเองให้ได้ในระบบซัพพลายเชน และสุดท้ายก็คือการเสริมสร้างความต้องการภายในประเทศ

แผนเฉพาะหน้าที่กำหนดว่าจะปฏิบัติในปีหน้านี้นอกจาก 3 ประการดังกล่าว ยังมีแผนที่จะปรับปรุงความมั่นคงทางอาหารให้ดีขึ้น, การเพิ่มความเข้มข้นให้กับมาตรการต่อต้านการผูกขาด, การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และสุดท้ายคือ แผนปฏิบัติการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินระดับของปี 2035

Advertisment

“ไมเคิล เฮอร์สัน” หัวหน้าทีมวิเคราะห์จีนของยูเรเซีย กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สารัตถะของรายงานการประชุมปีนี้ น่าสนใจและชวนให้ตั้งข้อสังเกตมากกว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การกำหนดนโยบายแบบครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังกำหนดลำดับความสำคัญ และเชื่อมต่อเข้ากับวาระทางภูมิรัฐศาสตร์และวาระเศรษฐกิจของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการเร่งรัดนวัตกรรมภายในประเทศ และการลดการพึ่งพาทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐานจากสหรัฐอเมริกา

แลร์รี หู หัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนของแมคไกวร์กรุ๊ป ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกันว่า นอกเหนือจากเรื่องการควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ด้วยมาตรการต่อต้านการผูกขาดแล้ว ส่วนสำคัญที่เหลือทั้งหมด เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง และการเสริมสร้างดีมานด์ภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวทางที่ทางการจีนเล็งเห็นว่าเป็นความจำเป็นเนื่องจากเห็นว่าปัญหาท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดของจีนในระยะยาวก็คือ เรื่องของการแยกเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาออกจากกัน

ในแผนเพิ่มพูนนวัตกรรมภายในประเทศนั้น รวมถึงแผนระยะยาว 10 ปี เพื่อการก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม” จำนวนหนึ่งขึ้นในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนพื้นฐาน อย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์จากภายนอกประเทศ ที่ถือว่าเป็น “จุดอ่อน” สำคัญที่สุดในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกา

ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ของจีนอยู่ในระดับสูงถึง 2.2% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกาที่ 2.8% เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็จริง แต่เมื่อเจาะจงลงไปที่งบประมาณอาร์แอนด์ดีสำหรับงานวิจัยพื้นฐานแล้ว จีนกลับมีเพียง 6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่ 15% อยู่มาก

Advertisment

แผนปฏิบัติการในปีหน้า นอกจากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังต้องการแก้ไขปัญหา “คอขวด” ในระบบซัพพลายเชน และมุ่งเน้นไปที่ “จุดเด่นที่จีนได้เปรียบ” อยู่แล้ว เพื่อลดการพึ่งพาจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้แผนเศรษฐกิจปีหน้ายังกำหนดไว้ด้วยว่า จีนจะพิจารณาการเข้าร่วม “ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “CPTPP” กลุ่มการค้า 11 ประเทศที่ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา แต่สหรัฐอเมริกากลับถอนตัวออกมาในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

หลาย ๆ แผนดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” อย่างชัดเจน

จีนยังคงเชื่อว่า ไบเดนจะยังคงมองจีนเป็นคู่แข่งที่ท้าทายต่อสหรัฐอเมริกาได้มากที่สุด เหมือนกับที่ทรัมป์เคยเป็น แม้วิธีการที่ใช้ในการ “จำกัด” บทบาทของจีนจะแตกต่างกันออกไปก็ตาม

ที่ผ่านมา ทรัมป์เดินหน้าจัดการกับจีนตามลำพัง แต่คาดหมายกันว่า ไบเดนจะใช้วิธีการสร้างพันธมิตรในระดับนานาชาติขึ้นมาเพื่อกดดันจีนในปมปัญหาสำคัญ ๆ ด้านการค้าและนโยบายทางเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับจีนได้มากกว่ามากนัก

เพราะหากยืนกรานเหมือนเช่นที่เคยยืนหยัดในการต่อสู้กับทรัมป์ที่ผ่านมา ก็เท่ากับว่าจีนมีโอกาสถูกโดดเดี่ยวในระดับโลกมากทีเดียว

มากจนจีนต้องเริ่มต้นพึ่งพาตัวเองทาง เทคโนโลยีเสียตั้งแต่ตอนนี้นั่นเอง