ภาษีใหม่อังกฤษพ่นพิษ ธุรกิจอียูขู่ ‘ไม่ขายสินค้า’

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาถือว่าสหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) อย่างแท้จริง โดยอังกฤษยุติการปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูและเริ่มนำความตกลงใหม่ทั้งด้านการเดินทาง การค้า การเข้าเมืองและย้ายถิ่นฐาน และความร่วมมือด้านความมั่นคงใหม่มาใช้แทน

แต่เพียงไม่กี่วันก็มีผู้ค้าปลีกออนไลน์ในอียูบางส่วนระบุว่า จะไม่ขายและส่งสินค้าไปสหราชอาณาจักรอีกต่อไป รวมถึงเจ้าของร้านขายชิ้นส่วนจักรยาน “ไบค์ บิทส์” จากเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า บริษัทจะรับคำสั่งซื้อทั่วโลก “ยกเว้นสหราชอาณาจักร” เช่นเดียวกัน “เบียร์ออนเว็บ” จากเบลเยียม ประกาศไม่จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าจากอังกฤษ ผลจากข้อตกลงทางการค้าใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีใหม่

บีบีซีรายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าใหม่ ธุรกิจค้าปลีกนอกสหราชอาณาจักรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ณ จุดขาย แทนที่จะเก็บ ณ จุดนำเข้า กรณีที่ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโร (ประมาณ 5,530 บาท) หมายความว่าผู้ค้าปลีกในต่างประเทศที่ส่งสินค้าไปอังกฤษจะต้องจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับสหราชอาณาจักรและนำส่งภาษีให้กับสรรพากรและศุลกากรของสหราชอาณาจักร หากมูลค่าการขายน้อยกว่า 150 ยูโร (135 ปอนด์)

โฆษกรัฐบาลอังกฤษระบุ กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่นี้ เพื่อให้สินค้าจากอียูและนอกอียูได้รับการปฏิบัติระดับเดียวกัน และทำให้ธุรกิจในสหราชอาณาจักรไม่เสียเปรียบการแข่งขันจากการนำเข้าที่ปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบใหม่นี้ยังช่วยแก้ปัญหาป้องกันผู้ค้าต่างประเทศที่จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง โดยทางการคาดว่าจะได้เงินเพิ่มจากภาษีใหม่นี้ถึง 300 ล้านปอนด์ โดยรัฐบาลยืนยันว่าหลายธุรกิจในอียูจำนวนมาก ซึ่งทำการค้าในสหราชอาณาจักรได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากรและศุลกากรของสหราชอาณาจักรแล้ว

“ริชาร์ด แอลเลน” ผู้ก่อตั้งกลุ่มค้าปลีกต่อต้านภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวว่า การซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลโยงมาถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีการระบุบทลงโทษในกรณีผู้ประกอบการไม่ได้จดทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่าทางการจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ “เบร็กซิต” ยังทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โฆษกบริษัทขนส่ง “ทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส” ในเครือเฟดเอกซ์ ระบุว่า บริษัทได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมอีก 4.31 ปอนด์ (ประมาณ 175 บาท) ต่อการขนส่งระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นจากที่ต้องปรับเปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากร และปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังเบร็กซิต ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง “ดีเอชแอล” และ “ยูพีเอส” ก็ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเช่นกัน