IMF มอง “เอเชีย” หลังโควิด เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร ?

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีเว็บบล็อกน่าสนใจที่เรียกว่า “ไอเอ็มเอฟไดเร็กต์” ซึ่งเป็นโพลิซีบล็อก สำหรับเผยแพร่ทรรศนะและข้อมูลเชิงลึกทั้งทางด้านการเงินและเศรษฐกิจจากทีมวิจัยในแต่ละภูมิภาคอยู่ด้วย

โพลิซีบล็อก เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นำเสนอความคิดเห็นในกรณีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไว้ น่าพิจารณาอย่างยิ่ง ผู้เขียนคือ “ดาวิเด เฟอร์เชรี” รองหัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกศึกษา, โจนาธาน ออสทราย รักษาการผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิก และแอนโธนี ตัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากฝ่ายงานวิจัยในแผนกเอเชีย-แปซิฟิก ในสังกัดไอเอ็มเอฟ

ข้อเขียนชิ้นนี้เริ่มจากการประเมินสภาพทรุดตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเสนอแนะแนวทางในอนาคตที่เหมาะสมเอาไว้ให้พร้อมสรรพ

ข้อที่น่าสนใจแรกสุดก็คือนักวิชาการของไอเอ็มเอฟทั้ง 3 เห็นว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” อยู่ในสภาพที่ดีกว่าหลายภูมิภาคของโลก เหตุผลไม่ใช่เพียงเพราะเป็นภูมิภาคแรกสุดที่ถูกโควิด-19 เล่นงาน จึงควรเป็นภูมิภาคแรกสุดที่หลุดจากวิกฤตเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าในภูมิภาค กับประเทศเศรษฐกิจใหม่ขนาดใหญ่อย่าง จีน, อินเดีย, มาเลเซีย และไทย จัดการกับสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาได้ดีเกินคาดอีกด้วย

ดังนั้น โดยภาพรวมของทั้งภูมิภาคแล้ว ไอเอ็มเอฟถึงคาดการณ์ว่า เอเชียจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง ผลผลิตโดยรวมน่าจะขยายตัวถึง 7.3% ในปีนี้ ต่อด้วยอีก 5.3% ในปี 2022

แต่ใช่ว่าเอเชีย-แปซิฟิกจะปลอดจากปัญหา ด้วยเหตุที่ว่าการสูญเสียผลผลิตของระบบเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมานั้น นอกจากมหาศาลมาก ยังมีระดับแตกต่างกันหลากหลายอีกด้วย ตั้งแต่มีผลกระทบน้อยมาก อย่างในจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน เรื่อยไปจนถึงที่ทรุดตัวหนักมากกว่า 20% ที่ฟิลิปปินส์ หรือกระทั่งถึง 30% ที่ติมอร์เลสเต

ในแง่นี้ประเทศต่าง ๆ ย่อมฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดครั้งนี้แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

ทีมวิชาการของไอเอ็มเอฟให้เหตุผลของความแตกต่างดังกล่าวไว้ว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 3-4 ประการ แรกสุดคือ ปัจจัยว่าด้วยประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตในเชิงสุขภาพ ประเทศไหนที่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เร็วกว่า ก็จะช่วยให้มีรากฐานสำหรับการฟื้นตัวได้ดีกว่า

ถัดมาคือขนาดและประสิทธิภาพของนโยบายที่ออกมาเพื่อบรรเทาและสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต นโยบายที่ดีจะช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว มาตรการช่วยเหลือทางการคลัง อาทิ การให้เงินช่วยเหลือต่อครัวเรือนที่เดือดร้อนที่สุดก็มีส่วนช่วยปูพื้นฐานสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ การแพร่ระบาดทำลายเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนก็จริง แต่บางภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักกว่าภาคอื่น ๆ อาทิ การท่องเที่ยว, แรงงานอพยพและแรงงานไม่เป็นทางการ (งานชั่วคราว) เป็นต้น

หากต้องการให้ความต่างดังกล่าวหดแคบลง นักวิชาการของไอเอ็มเอฟเสนอแนะแนวนโยบายเพื่อช่วยให้ประเทศในเอเชียอยู่ในสภาพดีกว่าได้ในอนาคตไว้ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลต้องทำให้แน่ใจว่า วัคซีนต้านโควิดสามารถกระจายออกไปได้ทั่วถึงสำหรับใช้ยุติการแพร่ระบาดในทุก ๆ ที่ ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า ยิ่งกระจายวัคซีนได้เร็วเท่าใด หรือมีวิธีการหรือตัวยารักษาที่มีประสิทธิภาพเท่าใด ก็จะยิ่งก่อให้เกิดการฟื้นตัวของการบริโภค, การลงทุน และการจ้างงานแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

ประการที่สอง นโยบายสำหรับสนับสนุนทั้งแรงงานและกิจการธุรกิจ ควรดำเนินต่อไป อย่างน้อยที่สุดจนกว่าอุปทานภายในประเทศของภาคเอกชนส่อเค้าว่าจะฟื้นตัวกลับมายั่งยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไอเอ็มเอฟชี้ว่ายิ่งเกิดความไม่แน่นอนสูง ยิ่งต้องชะลอการยกเลิกนโยบายเหล่านี้ให้ช้าลงมากขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังภาวะหนี้และความเสี่ยงของภาคการเงินพร้อมกันไปด้วย

ประการที่สาม ไอเอ็มเอฟเสนอให้ดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในทันทีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หันมาใช้นโยบายกระตุ้นอุปทานภาคเอกชนแทนที่การให้การช่วยเหลือเป็นรายเซ็กเตอร์ เร่งสร้างโฉมใหม่ของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า มีผู้มีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น และเป็นไปในรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ประการสุดท้าย เป็นข้อเสนอสำหรับประเทศในภูมิภาคในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำเป็นพิเศษ ไอเอ็มเอฟเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศยากจนเหล่านี้ ซึ่งการแพร่ระบาดไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาหนักมากเท่านั้น ยังไม่มีช่องว่างเชิงนโยบายให้ตอบสนองต่อวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย