จีนไล่บี้คดีทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือกำราบ “ธุรกิจต่างชาติ”

การฟ้องร้องในคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน “จีน” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทจีนฟ้องร้องกล่าวหาธุรกิจต่างชาติ ส่งผลให้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนถูกมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการจำกัดควบคุมธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาขยายตัวในจีน

นิกเคอิเอเชีย รายงานว่า จำนวนคดีความเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน (ซีเอ็นไอพีเอ) พบว่าในปี 2020 มีคดีความขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปี 2016 ซึ่งธุรกิจต่างชาติกำลังตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายดังกล่าวโดยบริษัทของจีน

อย่างกรณี “เรียวฮิน เคอิคะคุ” (Ryohin Keikaku) ผู้ค้าปลีกรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ดัง “มูจิ” (Muji) ซึ่งถูกฟ้องตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยบริษัทจีนรวมกว่า 10 คดี ส่งผลให้บริษัทต้องจัดตั้งฝ่ายกฎหมายเพื่อดูแลคดีเหล่านี้โดยเฉพาะ

หนึ่งในคดีที่โด่งดังคือ กรณีการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้า จากการที่เรียวฮิน เคอิคะคุใช้ชื่อแบรนด์ “มูจิ” ในอักษรจีน ซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของ “ปักกิ่ง คอตตอนฟีลด์ เทกซ์ไทล์ คอร์ป” (Beijing Cottonfield Textile Corp.) บริษัทสิ่งทอของจีน ซึ่งศาลตัดสินให้บริษัทจีนชนะในคดีนี้ และเรียวฮิน เคอิคะคุต้องชดใช้ค่าเสียหายราว 89,000 ดอลลาร์สหรัฐ

“โยชิฟูมิ โอโนเดระ” นักกฎหมายจากโมริ ฮามาดา แอนด์ มัตสุโมโตะ (Mori Hamada & Matsumoto) บริษัทกฎหมายชั้นนำของญี่ปุ่นระบุว่า “ปกติคดีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบริษัทจีนกับบริษัทต่างชาติ มักเป็นคดีที่บริษัทจีนถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ปัจจุบันคดีในลักษณะตรงกันข้าม คือบริษัทจีนกล่าวหาบริษัทต่างชาติเป็นฝ่ายละเมิดกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

Advertisment

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปริมาณการจดสิทธิบัตรในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2020 จีนเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรมากที่สุดในโลกถึง 68,720 รายการ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทจีนไม่เพียงแต่มองว่าการจดสิทธิบัตรเป็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของจีนในช่วงปี 2019-2020 ยังมีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วย “ค่าเสียหายเชิงลงโทษ” ซึ่งส่งผลให้ศาลมีอำนาจสั่งปรับได้สูงสุดถึง 5 เท่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีที่เห็นว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นช่องทางให้ฝ่ายโจทก์ได้รับประโยชน์จากการฟ้องร้องมากขึ้น

จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนในปัจจุบัน ส่งผลให้มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีจำนวนมาก ตั้งแต่ 5จี (5G) ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่ง “โยชิฟูมิ โอโนเดระ” คาดว่า คดีความระหว่างบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่ฟ้องร้องบริษัทต่างชาติมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

เช่นกรณีที่เกิดขึ้นแล้วกับ “แอปเปิล” ซึ่งถูกฟ้องร้องโดย “เซี่ยงไฮ้ จือเจิน อินเทลลิเจนต์ เน็ตเวิร์ก เทคโนโลยี” บริษัทเทคโนโลยีของจีน ที่กล่าวหาว่าแอปเปิลละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีเอไอจดจำเสียงของบริษัท ซึ่งนำไปใช้ในระบบอัจฉริยะ “สิริ” (Siri) โดยมีการเรียกร้องค่าเสียหาย 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นความท้าทายของเจ้าของกิจการต่างชาติที่มีเป้าหมายในการขยายกิจการในจีน ที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านแผนการและกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงทีมกฎหมายเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบริษัทคู่แข่งในจีนได้ทุกเมื่อ