“ซาอุดี อารัมโก” กำไรพุ่ง อานิสงส์น้ำมันโลกฟื้นตัว

อุตสาหกรรมน้ำมันโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ซาอุดี อารัมโก” ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีกำไรเพิ่มขึ้นสูงสุดนับจากปี 2019

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า “ซาอุดี อารัมโก” รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3/2021 มีรายได้สุทธิ 30,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 158% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่บริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้นช่วงปลายปี 2019 และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่า บริษัทจะมีรายรับสุทธิอยู่ที่ราว 29,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ที่สูงขึ้นของซาอุดี อารัมโก เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันที่มากขึ้น รวมถึงอัตรากำไรจากการกลั่นและเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากถึง 28,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3/2021 จาก 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

แม้ว่าจะทำกำไรได้อย่างเหนือความคาดหมาย แต่ซาอุดี อารัมโก ยังคงจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น 18,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 4/2021 ตามแผนเดิมของบริษัท ขณะที่ยอดเงินปันผลประจำปีของซาอุดี อารัมโก โดยรวมกำหนดไว้ที่ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่ถือครองหุ้นอยู่ในบริษัทถึง 98%

“อามิน นาสเซอร์” ผู้บริหารระดับสูงของซาอุดี อารัมโก ระบุว่า ผลประกอบการที่โดดเด่นของบริษัทเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญทั่วโลก รวมถึงความต้องการพลังงานที่กลับมาฟื้นตัว

“เศรษฐกิจโลกยังคงมีอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาคอขวดของซัพพลายเชน แต่เรามองเห็นโอกาสจากความต้องการพลังงานที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตอันใกล้” นาสเซอร์กล่าว

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ซาอุดี อารัมโกเท่านั้น แต่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั่วโลกอย่าง “เชฟรอน” “เอ็กซอนโมบิล” และ “บีพี” ต่างก็ได้รับอานิสงส์จากความต้องการน้ำมันที่ฟื้นตัว ส่งผลให้กำไรของแต่ละบริษัทพุ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี

ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) พุ่งสูงกว่า 85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2014

นอกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่กลับมาฟื้นตัวแล้ว ปัจจัยที่หนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยังมาจากข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน “โอเปก พลัส” (Opec+) ที่ลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงทั่วโลก

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่กลุ่มโอเปก พลัส ยังคงรักษาการผลิตน้ำมันไว้ในระดับต่ำ แม้ว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย จะกดดันให้โอเปกพลัสเร่งการผลิตน้ำมันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามซาอุดี อารัมโก เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3/2021 บริษัทได้ลงทุน “เพื่ออนาคต” เพิ่มขึ้น 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บริษัทสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เฉลี่ย 9.5 ล้านบาร์เรล/วัน จาก 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ซาอุดี อารัมโก มองเห็นวิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง โดยมีแผนการลงทุนเพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดจาก 12 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 13 ล้านบาร์เรล/วัน

ขณะที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเพิ่งประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ทำลายสภาพภูมิอากาศเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ก่อนการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ช่วงวันที่ 31 ต.ค.-3 พ.ย. 2021

การประกาศเพิ่มกำลังการผลิตของซาอุดี อารัมโก จึงสร้างคำถามให้กับผู้สังเกตการณ์ทั่วโลกว่า แผนการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของซาอุดีอาระเบียจะสำเร็จได้จริงหรือไม่ หากยังคงมีการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันเพิ่มเติม

“ยาเซอร์ อัล-รูไมยัน” ประธานของซาอุดี อารัมโก ตอบคำถามดังกล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานต้องใช้เวลานานและซับซ้อน ดังนั้น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะยังคงมีบทบาทต่อไป

“การหยุดชะงักทางด้านพลังงานทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานจะต้องมีเสถียรภาพและครอบคลุมโดยจะต้องมีแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ ราคาไม่สูง และต้นทุนต่ำ เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อัล-รูไมยันระบุ