“บลิงเกน” โฉบอาเซียน เดินแผนเศรษฐกิจ ต้านอิทธิพลจีน

ส่อแววปีหน้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างจีนและสหรัฐ โดยช่วงปีที่ผ่านมามีบุคคลระดับสูงในคณะบริหาร “โจ ไบเดน” หลายคนเยือนชาติอาเซียนในหลายโอกาส ตั้งแต่ นางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน รมช.ต่างประเทศ, พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหม, นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี

กระทั่งล่าสุด นายแอนโทนี บลิงเกน รมว.ต่างประเทศ ที่มีกำหนดเยือนอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ระหว่าง 13-16 ธันวาคมนี้ นับเป็นการเยือนอาเซียนครั้งแรกของบลิงเกน

แผนเวิลด์ทัวร์ที่แวะ 3 ชาติอาเซียน สะท้อนว่าอาเซียนจะเป็นสนามที่สองชาติ มหาอำนาจประลองขับเคี่ยวยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้น เนื่องจากจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ความพยายามอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ อันเป็นเส้นทางค้าสำคัญของภูมิภาค จนถึงความตึงเครียดผ่านช่องแคบไต้หวัน

เมื่อ 2560 ภายใต้ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” สหรัฐแทบไม่ให้ความสำคัญกับอาเซียน เห็นได้จากการถอนตัวจากข้อตกลงการค้าในภูมิภาค เป็นช่องโหว่ ให้ปักกิ่งอาศัยจังหวะแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้น “แดเนียล คริเทนบริงก์” ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก กล่าวกับรอยเตอร์สว่า หากนายบลิงเกนจะอาศัยการเยือนยกระดับความร่วมมือทุกภาคส่วนกับอาเซียน สู่ระดับที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” รวมทั้งหารือกับทั้ง 3 ชาติในกรอบโครงสร้างเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกของไบเดน

นักวิเคราะห์มองว่า บลิงเกนอาจพยายามหว่านล้อมประเทศต่าง ๆ โดยโปรยยาหอมถึงแนวทางที่จะให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และอาเซียนเป็นหนึ่งในตัวเลือก อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปกป้องห่วงโซ่ อุปทานและอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการพัฒนา ทว่าก็ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า วอชิงตันจะเสนอช่องทางเข้าถึงตลาดสหรัฐตามที่อาเซียนต้องการอย่างไร

Advertisment

แมทธิว กู๊ดแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคของศูนย์เพื่อการศึกษากลยุทธ์และการระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน มองว่า สหรัฐต้องชัดเจนว่า มีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจใดบ้างที่จะทำให้พันธมิตรและหุ้นส่วนเห็นว่า อเมริกามุ่งมั่นในการเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจระยะยาวในภูมิภาคนี้

นักการทูตเอเชียกล่าวว่า แม้รัฐบาลไบเดนแสดงความกระตือรือร้นในการยกระดับความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งเจ้าหน้าระดับสูงในรัฐบาลเดินทางเยือนหลายครั้งตลอดปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับไบเดนที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียน แต่สหรัฐยังคงไม่มีมาตรการรับมืออิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน

“สหรัฐแทบไม่ตอบสนองอิทธิพลจีนในเรื่องเศรษฐกิจ จีนเดินเกมนำหน้าสหรัฐ 20 ปี วอชิงตันจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยประเทศในอาเซียนที่ด้อยพัฒนา การส่งเรือบรรทุกเครื่องบินมาไม่เพียงพออีกต่อไป”

แผนย้ายฐานการผลิตของบริษัทอเมริกันเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อชาติอาเซียนอย่างมาก

Advertisment

“หากคุณเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย คงอยากเป็นฐานการผลิตของแอปเปิล แต่ละชาติปัจจัยส่งเสริม ทว่าต้องมีรายละเอียดอีกมากที่โน้มน้าวบริษัทอเมริกันได้” กู๊ดแมนทิ้งท้าย