“ไทยคม”แตกไลน์ 10 ธุรกิจใหม่ new S-curve สู้ดิจิทัลดิสรัปต์

อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
ไทยคมปูพรม 10 new S-curve ธุรกิจไฮเทครับดิจิทัลดิสรัปต์ นำร่อง UAV อากาศยานไร้คนขับงานด้านความมั่นคง เจาะตลาดภาครัฐ “โดรนการเกษตร” ต่อยอดความเชี่ยวชาญวิศวกรรม พร้อมซุ่มจับมือพันธมิตรใช้วงโคจรต่างชาติ สร้างดาวเทียมบรอดแบนด์ ปักธงอีก 3 ปีพร้อมใช้ ฟาก “กสทช.”เตรียมประกาศเกณฑ์ขอไลเซนส์ใช้วงโคจรไทยยิงดาวเทียมดวงใหม่

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้รับมือดิจิทัลดิสรัปต์ด้วยการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่จะเป็น new S-curve สร้างรายได้ในอนาคต โดยเปิดเป็น 10 โครงการใหม่ ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ UAV, โดรน, คลาวด์ทีวีและวิดีโอโซลูชั่น, แชริ่งทรานส์สปอร์ต อาทิ รถจักรยานยนต์ในพื้นที่มหาวิทยาลัย, ไซเบอร์และดาต้าซีเคียวริตี้ รองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, เทคโนโลยีบล็อกเชน, ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสแพลตฟอร์ม, เทคโนโลยีวิเคราะและตรวจจับภาพและวิดีโอ, การเป็นที่ปรึกษาและดำเนินโครงการเฉพาะทางของภาครัฐ (specific country project) โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของไทยคม ซึ่งเริ่มแล้วในบางประเทศที่เข้าไปช่วยในด้านการวางโครงข่ายบรอดแบนด์ และรวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการนวัตกรรมใหม่ ๆ

“เป็นธุรกิจที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ทั้งหมด จึงต้องปูพรมทดลองตลาดไปให้มากที่สุด อย่างที่เริ่มทำตลาดแล้ว คือ ตัวอากาศยานไร้คนขับ กับโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เทคโนโลยีพร้อม ตลาดพร้อม อย่าง UAV มีโครงการภาครัฐหลายโครงการเปิดจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เป็นกลุ่มงานด้านการสำรวจ และงานด้านความมั่นคง”

ส่วนโดรนด้านการเกษตร จะชูจุดเด่นในการออกแบบโดรนให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสม และระดับราคาที่ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่าย เป็นราคาที่ถูกกว่าตลาดปัจจุบัน และมีบริการครบวงจรซึ่งจะทำให้ธุรกิจใหม่นี้เป็นการใช้จุดแข็งของไทยคมมาต่อยอด ไม่ว่าจะเครือข่ายด้านนวัตกรรม และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม โดยจะใช้บริษัทลูก “Thai AI” เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่เร็ว ๆ นี้

“ผู้ผลิต UAV และ drone ชั้นนำระดับโลก ล้วนเกี่ยวข้องกับดาวเทียมทั้งนั้น ฉะนั้นไทยคมสามารถใช้เครือข่ายส่วนนี้ในการต่อยอดธุรกิจได้ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการนำเข้ามาทำตลาด โดยไทยคมเป็นผู้บริหารจัดการ ดูแลระบบและบำรุงรักษาให้ลูกค้า และหากความต้องการมากจะขยับไปสู่การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์นี้เอง เชื่อว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจนี้จะกลายเป็นตลาด mass สร้างรายได้จริงจัง แต่รายได้หลักของไทยคมยังเป็นธุรกิจดาวเทียม”

อีก 3 ปียิงดาวเทียมใหม่

โดยในส่วนธุรกิจดั้งเดิมอย่างดาวเทียม ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อสร้างดาวเทียมดวงใหม่ โดยใช้วงโคจรของต่างประเทศที่จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าอีก 3 ปีจะสามารถส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรได้

“ยังเปิดเผยตำแหน่งวงโคจรกับชื่อพาร์ตเนอร์ไม่ได้ แต่ตลาดเป้าหมาย คือ กลุ่มประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก และจะเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์เหมือนไอพีสตาร์ เพื่อให้รับกับเทรนด์ของดาวเทียมในปัจจุบัน ส่วนดาวเทียมดวงใหม่ในไทยก็คงต้องแล้วแต่ทางรัฐบาล”

ส่วนความคืบหน้าในการบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัมปทานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บริษัทฯพร้อมเข้ายื่นข้อเสนอ PPP (public private partnership) ที่กระทรวงจะดำเนินการ และมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณา

“ทันทีที่สิ้นสุดสัมปทาน ไทยคมต้องยุติการบริหารจัดการดาวเทียมทั้งหมดทันที แต่ก็ไม่ง่ายที่บริษัทอื่นจะเข้ามาทำ PPP บริหารดาวเทียมต่อ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และอายุการใช้งานของดาวเทียมที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้เยอะ”

ยอมรับช่วง “ดาวเทียม” ขาลง

โดยอายุการใช้งานของดาวเทียมไทยคมที่ยังอยู่ในวงโคจรนั้น ดาวเทียมไอพีสตาร์และไทยคม 5 คาดว่าจะใช้งานได้ถึงปี 2564 ไทยคม 6 และ 7 ได้ถึงปี 2572 ส่วนไทยคม 8 จะใช้ได้ถึงปี 2574

“ยอมรับว่าตอนนี้เป็นช่วงขาลงของธุรกิจดาวเทียม และไทยคมก็ยังไม่สามารถยิงดาวเทียมดวงใหม่ได้ ดาวเทียมใต้สัมปทานก็ต้องรอให้กระทรวงทำ PPP แต่ในทางธุรกิจเรารอไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็ลุยธุรกิจใหม่เต็มที่”

กสทช.พร้อมออกไลเซนส์

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ 3 ประกาศสำคัญสำหรับการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม ได้แก่ แผนแม่บทสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ประกาศ กสทช.เรื่องการอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตใช้ดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย

หลังจากได้ยกร่างและเตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ และน่าจะเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. และเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ในเดือน ก.ย.นี้

“เมื่อประกาศใช้แล้ว หากมีบริษัทใดต้องการจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ในนามประเทศไทย ก็สามารถมายื่นขอใช้วงโคจรดาวเทียมกับ กสทช.ได้เลย ยกเว้นจะเป็นดาวเทียมในตำแหน่งที่มีดาวเทียมสัมปทานใช้งานอยู่”

ส่วนดาวเทียมภายใต้สัมปทานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับ บมจ.ไทยคม ที่จะสิ้นสุดสัมปทาน ส.ค. 2564 นั้น ดีอีจะต้องดำเนินการตามมติ ครม. ที่ให้เปิด PPP ไม่เกี่ยวกับ กสทช.

“สิทธิวงโคจรหรือไฟลิ่ง หลัง ส.ค. 2564 ที่สัมปทานสิ้นสุด แม้ดาวเทียมจะยังมีอายุการใช้งานอยู่ แต่สิทธิในวงโคจรถือว่าสิ้นสุดตามสัมปทานแล้ว กระทรวงดิจิทัลฯในฐานะเจ้าของสัมปทาน จึงต้องเร่งเปิด PPP เพื่อบริหารดาวเทียมที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่สิทธิในวงโคจรดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทานก็จะกลับมาอยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช.”

ทั่วโลกตื่นตัวรับเทคโนโลยีใหม่ 

ขณะที่ในเวทีระดับโลก กลุ่มกิจการดาวเทียมได้ร่วมตัวกันผลักดันวาระเกี่ยวกับคลื่นสำหรับกิจการดาวเทียม ที่รองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ โครงการดาวเทียม SpaceX ของ Elon Musk การใช้โดรนส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่ Google และ Facebook ที่เตรียมจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้