ไล่บี้ภาษีที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศ กม.ชี้ผู้เช่า-ผู้ครอบครองต้องจ่าย

ผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 2.9 ล้านราย แจ็กพอตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดแนวทางปฏิบัติชัด สั่ง อปท.ทั่วประเทศขอบัญชีรายชื่อจากปฏิรูปที่ดินจังหวัด แจ้งการประเมินเรียกชำระภาษีโดยตรง ค้างจ่ายเจอมาตรการบังคับ-บทลงโทษ

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจงแนวปฏิบัติในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ

ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งแนวทางปฏิบัติให้ ส.ป.ก.ทราบแล้ว สาระสำคัญคือ บทบัญญัติมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 กำหนดให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของ ส.ป.ก. ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของรัฐมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับ อปท. อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ฯลฯ ในพื้นที่

ขอรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.

ขณะเดียวกัน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งให้ อปท.ในแต่ละจังหวัดปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และให้ อปท.ประสานขอข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด

โดยให้แจ้งรายชื่อผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ อปท.แต่ละพื้นที่ สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลในการคำนวณจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ซึ่งปกติแต่ละปีจะให้ยื่นชำระภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของทุกปี

Advertisment

แต่ผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีที่ดินฯ ซึ่งเดิมจะจัดเก็บปีแรกในปี 2563 ลง 90% โดยจัดเก็บเพียงแค่ 10% ของภาระภาษีที่ต้องจ่าย เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ เช่นเดียวกับปีนี้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ลดภาษีที่ดินฯในปี 2564 ในอัตรา 90% เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

กม.ชี้ชัดครอบครองต้องจ่ายภาษี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ส.ป.ก.ทำหนังสือหารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยระบุว่า จากที่ได้พิจารณาบทบัญญัติ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พบว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

กรณีที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งถือเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐประเภทหนึ่ง ผู้มีหน้าที่ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงได้แก่ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ และผู้ได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่่ดินในฐานะผู้ครองครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

ไม่จ่ายภาษีเจอลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีทั้งกรณีที่ ส.ป.ก.โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.จังหวัด) เป็นผู้เสียภาษีให้กับ อปท.ไปก่อน จากนั้นให้ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ และผู้ได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดินชำระค่าภาษีให้กับ ส.ป.ก. และกรณีที่ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ และผู้ได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดินชำระภาษีกับ อปท.โดยตรง

Advertisment

แนวทางปฏิบัติจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายที่ต้องการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

ส.ป.ก. จึงขอให้ อปท.แต่ละพื้นที่แจ้งการประเมินภาษีผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐโดยตรง และหากบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องชำระภาษีไม่ชำระภาษีก็ให้ใช้มาตรการบังคับ หรือมีบทลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ในส่วนของอัตราภาษีกรณีเป็นที่ดินเกษตรกรรม อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 0-75 ล้านบาท เพดานภาษี 0.15% อัตราจัดเก็บจริง 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท ภาษี 0.03% บ้านพักอาศัย เพดานภาษี 0.3% อัตราจัดเก็บจริงมูลค่า 0-10 ล้านบาท เป็นต้น

2.9 ล้านรายแจ็กพอตภาษีที่ดิน

แหล่งข่าวจาก ส.ป.ก. เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค. 2563 มีผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินทุกประเภททั่วประเทศ 72 จังหวัด 724 อำเภอ 3,646 ตำบล มีเกษตรกรครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 2,938,929 ราย จำนวน 3,760,315 แปลง เนื้อที่รวม 36,362,084 ไร่ แยกเป็นที่เกษตรกรรม 67 จังหวัด 2,263,050 ราย 3,026,440 ไร่ เนื้อที่ 35,435,725 ไร่ ที่ชุมชน 62 จังหวัด 642,910 ราย 690,873 แปลง เนื้อที่ 406,419 ไร่ และจัดทำประโยชน์ในที่ดินเอกชน 53 จังหวัด 32,969 ราย 43,002 แปลง เนื้อที่ 519,940 ไร่