2565 ปีพลิกฟื้นท่องเที่ยว โอกาสทอง “รีสตาร์ตธุรกิจ”

ตลอด 2 ปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดวิกฤตโควิด ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 2562 และลดลงมาเหลือเพียง 4.27 แสนคนในปี 2564 ที่ผ่านมา

จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมีเพียงตลาดภายในประเทศที่ช่วยให้ผู้ประกอบการบางส่วนประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้

ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามหารูปแบบการเปิดประเทศ เพื่อต่อลมหายใจผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ที่ผ่านมา

ดัชนีเชื่อมั่นร่วงต่อเนื่อง

จากข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4/2564 ซึ่งจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 พบว่า ระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั่วประเทศยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด และยังคาดการณ์จะยังคงต่ำกว่าปกติมากต่อเนื่องในไตรมาส 1/2565

“รศ.ผกากรอง เทพรักษ์” อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2564 เท่ากับ 47 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าปกติมา แต่ฟื้นดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3/2564 ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 7

Advertisment

โดยจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 342,024 คน รวมทั้งปี 2564 เป็นจำนวน 427,869 คนคิดเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 37,739.44 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 63 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาส 1/2565 สถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะดีกว่าไตรมาส 4/2564 เล็กน้อย

เร่งทำการตลาดเชิงรุก

“วิชิต ประกอบโกศล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ด้านการตลาด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องมุ่งเน้นทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบ travel bubble ทั้งนี้ เพื่อลดอุปสรรคและสร้างโอกาสทางการตลาดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ได้

โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องเปิดเกมรุกนั้น ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.คนในประเทศส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2.ในต่างประเทศ ประชากรทั่วโลกก็ได้รับการฉีดวัคซีนในปริมาณที่มากแล้วเช่นกัน ประกอบกับในหลายประเทศเปิดประเทศอย่างเสรี โดยเฉพาะโซนยุโรป อเมริกา และ 3.นโยบายการเปิดประเทศของไทย

Advertisment

โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หลังจากช่วงกุมภาพันธ์แล้ว ประเทศจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาต่อเนื่องแค่ไหน เนื่องจากหมดซีซั่นการเดินทางของตลาดในโซนยุโรป ขณะที่ตลาดเอเชียหลายประเทศยังไม่เปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าสำหรับตลาดเอเชียมีโอกาสสูงในช่วงอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะล่าสุดฟิลิปปินส์ได้เริ่มเปิดประเทศแล้ว

“สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าปีนี้เรายังไม่สามารถเปิดประเทศได้เพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว โอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการปิดตัวในปริมาณที่มากขึ้นอีกครั้งแน่นอน”

วอนรัฐเร่งเปิดประเทศจริงจัง

“วิชิต” บอกอีกว่า อยากขอร้องให้รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศที่ชัดเจนว่าจะเปิดแค่ไหน และเปิดอย่างไร อย่าเปิด ๆ ปิด ๆ เพราะทำให้ผู้ประกอบการยิ่งได้รับผลกระทบ และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความสับสน

พร้อมยกตัวอย่างประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย อาทิ ตุรกี ที่มีประชากร 84.34 ล้านคน ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 42.35 ล้านคน ในปี 2564 มีนโยบายเปิดประเทศรับต่างชาติ ทำให้ในช่วงแค่ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 64) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.6 ล้านคน คิดเป็น 23.61% ของปี 2562

หรือกรณีดูไบ ยูเออี มีประชากร 9.89 ล้านคน ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 16.73 ล้านคน ปี 2564 มีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 64) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.02 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 5.5 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 41.8% ของปี 2562

เช่นเดียวกับมัลดีฟส์ มีประชากร 5.4 แสนคน ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.7 ล้านคน ปี 2564 เดินหน้าเปิดประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.32 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 77.64% ของปี 2562

ขณะที่ประเทศไทย มีประชากร 67 ล้านคน ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.9 ล้านคน ปี 2564 มีนโยบายเปิด ๆ ปิด ๆ ประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.27 แสนคน หรือคิดเป็น 1.07% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2562

2565 ปีเริ่มต้นพลิกฟื้นท่องเที่ยว

ด้าน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ที่ผ่านมาต้องขอบคุณรัฐบาลที่พยายามสร้างความสมดุลทั้งด้านความปลอดภัยและการเดินหน้าเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากเมื่อตัวเลขการแพร่ระบาดของโควิดลดลง รัฐบาลโดย ศบค.ก็ประกาศเปิดประเทศในรูปแบบ Test & Go อีกครั้งทันที

สทท.จึงมั่นใจว่าปี 2022 นี้จะเป็น “โอกาสทอง” สำหรับการเริ่มต้นพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาเดินหน้าได้ และเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลกได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้องขอผ่าน สทท.มา ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางนโยบาย และ 2.การสนับสนุนในการรีสตาร์ตธุรกิจ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มแข็งมากใน 3 ด้าน คือ การคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติ การจัดการในสถานประกอบการ และการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมั่นใจในมาตรการดังกล่าว และให้ความสนใจกับการบังคับใช้มากกว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงมาตรการบ่อย ๆ เพราะการท่องเที่ยวต้องการความต่อเนื่อง เพราะต้องมีการวางแผนในระยะยาวทั้งด้านกำลังคนการลงทุน และการตลาด

และในการกลับมารีสตาร์ตธุรกิจใหม่อีกครั้ง สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการที่สุด คือ “เงินทุน” และ “องค์ความรู้” ในการปรับธุรกิจเพื่อรองรับการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ของบฯหนุนรีสตาร์ตธุรกิจ

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ชี้ว่าปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังจากธุรกิจที่กลับมาเริ่มต้นกันอีกครั้งคือ แรงงานจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานจำนวนมากออกไปทำอาชีพอื่นแล้วไม่กลับมา

ดังนั้นการจะเริ่มต้น หรือ restart อีกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและ reskill/upskill ใหม่ ทั้งด้านสินค้า การเงิน การตลาด เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาทาง สทท.ก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วภายใต้โครงการ Tourism Clinic เพราะเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดคือหัวใจสำคัญในการพลิกฟื้นให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

ขณะที่ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธาน สทท. ย้ำว่า สทท.เตรียมทำแผนเสนอรัฐบาลโดยผ่านไปทางบอร์ดบริหารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจและพลิกฟื้นท่องเที่ยวไทยสำหรับปี 2565 นี้ ใน 2 ด้านหลัก คือ 1.งบฯสนับสนุน Tourism Clinic เพื่อสร้างคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง และ 2.งบฯสนับสนุนสำหรับทำ Tourism Platform เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการเข้าถึงตลาดเป้าหมาย

เพราะเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลให้การสนับสนุนและช่วยขับเคลื่อน การท่องเที่ยวของไทยสำหรับปี 2565 นี้ มีโอกาสพลิกฟื้นและกลับมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกครั้ง