ลงทุนอย่างไร หลังผ่านประชุมของสี่ธนาคารกลางสำคัญ

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุมธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเราเริ่มเห็นการตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการเงินที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณามุมมองของธนาคารกลางที่สำคัญ 4 แห่งคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED), ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งมีบทสรุปดังนี้

  • ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.0-5.25% และมีการประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น โดยปรับคาดการณ์ GDP สหรัฐปีนี้ขึ้นสู่ระดับ +1.0% มากกว่าคาดการณ์เดิมในเดือนมีนาคมที่ระดับ +0.4% แต่อย่างไรก็ดี ทางด้านคณะกรรมการ FED มีมุมมองดอกเบี้ยในช่วงถัดไปที่เข้มงวดมากขึ้น (Hawkish) โดย Dot Plot บ่งชี้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้ของสหรัฐเฉลี่ยที่ระดับ 5.6% สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.1% สะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง แต่อย่างไรก็ดี เราคาดแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐเข้าสู่ช่วงที่ใกล้จำกัดมากแล้ว ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะน้อยกว่าที่คณะกรรมการ FED ประเมินไว้ 
  • ในขณะที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น +0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.25%, ดอกเบี้ยเงินฝากที่ 3.5% และดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ 4.0% ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อของยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงราว +6.1% โดยแนวโน้มดอกเบี้ย ECB ในช่วงถัดไป คาดยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อคลายปัญหาเงินเฟ้อยูโรโซนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 
  • ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และไม่มีการเปลี่ยนมาตรการ Yield Curve Control โดยคงกรอบที่ +/- 0.5%  สอดคล้องกับที่ตลาดประเมินไว้ โดย BOJ ประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตระดับปานกลาง แต่ในช่วงถัดไปอาจจะมีการยกเลิกมาตรการ Yield Curve Control ซึ่งคงต้องติดตามใกล้ชิด
  • ส่วนจีน มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดย Reverse Repo Rate 7 วัน ลดลง -0.1% สู่ระดับ 1.9%, ดอกเบี้ยระยะกลาง (1 Year MLF rate) ปรับลดลง -0.1% สู่ระดับ 2.65% รวมทั้งคาดในช่วงถัดไปจะมีการปรับลด Loan Prime Rate และสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนแรกของจีน ซึ่งคาดตลาดยังคงคาดหวังการใช้มาตรการการคลังเข้ามาเร่งการกระตุ้นเพิ่มเติม ถือเป็นบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงถัดไป

จากบทสรุปการประชุมของธนาคารกลางสำคัญทั้ง 4 แห่ง สะท้อนทิศทางค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่า เนื่องจากดอกเบี้ยสหรัฐเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ในขณะที่ฝั่งยุโรปก็ยังพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งจะหนุนให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น ผสานกับทางการจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านทั้งมาตรการการเงินและการคลังในช่วงถัดไป จะเป็นแรงผลักดันต่ออีกแรงหนึ่ง ซึ่งหนุนการฟื้นตัวระยะสั้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ภาวะการลงทุนในช่วงนี้มีโอกาสที่กลุ่มที่อิงกับการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีแรงเก็งกำไรมากยิ่งขึ้น ผสานกับหุ้นที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยกลุ่มที่น่าเก็งกำไรในระยะสั้นได้แก่ กลุ่มพลังงาน & ปิโตรเคมี (IVL, PTTGC, BANPU), กลุ่มน้ำตาล (BRR), กลุ่มอิงการฟื้นตัวของจีน (AOT, ERW, SPA, EKH, CBG) เป็นต้น