บนวิถีการเดินทางแบบใหม่ Healthy Journey with BEM

สถานการณ์ COVID-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุด (1 มิ.ย.) ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน ยอดสะสมอยู่ที่ 3,082 คน รักษาหาย 2,965 คน อยู่ระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาล 60 คน จำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ 57 คน ทำให้รัฐบาลเริ่มคลายล็อก ผ่อนปรนมาตรการระยะ 3 ทำให้วิถีชีวิตของการใช้ชีวิตเมื่อครั้งก่อนโรคระบาดกำลังกลับมา  

ภายใต้ความปกติที่จะกลับมาเหมือนเดิมแต่ไม่เหมือนเก่าจากปัจจัยโรคระบาดที่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิมต้องเปลี่ยนไป สู่หนทาง New Normal (ปกติใหม่) ที่ต้องหันมาใส่ใจในสุขลักษณะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องให้ปลอดภัยจากโรค 

ในทุกเช้าของวันทำงาน บางคนเดินทางไปทำงานด้วยรถส่วนตัว บางคนเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ภาวะปกติที่คุ้นเคยในช่วงเวลาเร่งด่วน คือ คนแน่นรถ เบียดแค่ไหนก็ต้องพยายามขึ้นไปบนรถให้ได้ เพื่อเข้างานได้ทันเวลา แต่ห้วงเวลาเช่นนี้ จะให้กลับไปใช้วิถีแบบเดิมคงเป็นไปได้ยาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ จึงพยายามที่จะดำเนินมาตรการซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจระหว่างโดยสาร  

หนึ่งในนั้น คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ได้จัดโครงการ Healthy Journey with BEM เพื่อให้ผู้ใช้บริการโดยสาร รู้สึกปลอดภัยโดยการเดินทางผ่าน MRT 

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Healthy Journey with BEM มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มาใช้บริการ มีความมั่นใจว่า เข้ามาในระบบของเราแล้ว จะ Healthy ปลอด COVID-19 ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำมีหลายมิติ เนื่องจากว่าเราเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากใช้ 

มาตรการเริ่มต้นตั้งแต่ ผู้โดยสารและพนักงานทุกคนต้องสวมใส่หน้ากาก ตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 800 จุด ทั้ง 53 สถานี คัดกรองอุณหภูมิผู้เข้าใช้บริการ 

เว้นระยะห่างให้เหมาะสม (Social Distancing) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้โดยสาร ด้วยมาตรการดังกล่าว อาจจะทำให้รถไฟฟ้ารองรับผู้โดยสารได้จำนวนลดลง ในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น อาจจะมีมาตรการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ จัดระเบียบในสถานีเพื่อป้องกันความแออัด อย่างไรก็ตามทาง BEM จัดรถไว้ทั้งหมด 49 ขบวน และเพิ่มความถี่จำนวนรถให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วน (Rush hour) และมีรถวิ่งเสริมในบางสถานีที่ผู้โดยสารหนาแน่น

มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ฉีดพ่นในช่วงกลางคืน ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น จัดการฉีดพ่นตัวรถในสถานีปลายทาง 3 สถานี ได้แก่ เตาปูน หลักสอง และบางใหญ่ นอกเหนือจากฉีดพ่นฆ่าเชื้อแล้ว ในสถานีตามบริเวณต่าง ๆ ก็จัดการทำความสะอาดอยู่สม่ำเสมอ  ในทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง และหนึ่งชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดใช้เงินสด ผ่านคู่ค้าอย่างกรุงไทยและทรู วอลเล็ต ดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ใช้บริการในระบบรถไฟฟ้า MRT จะได้รับความปลอดภัย ไม่เสี่ยงโรค

ทั้งนี้ ดร.สมบัติ ได้ทิ้งท้ายขอความร่วมมือผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ผ่าน 3 คำสั้น ๆ สวม กด ห่าง

สวมหน้ากากอนามัย

กดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

ห่างเว้นระยะห่างระหว่างกัน

ไม่เพียงแต่มาตรการข้างต้น BEM ยังได้มีโครงการแจกหน้ากากผ้าจำนวน 1 ล้านชิ้นให้กับผู้ใช้บริการ MRT 1 คน     ต่อ 1 ชิ้น ในระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยแบ่งแจก 3 ครั้ง ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยครั้งที่ 1 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 – 7  มิถุนายน เวลา 06.30 – 09.00 น. สำหรับผู้โดยสารที่เติบเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ได้รับหน้ากากผ้าฟรี 1 ชิ้น ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเช่นกัน โดยแจกจนกว่าของจะหมด ซึ่งนอกจากผู้ใช้บริการในระบบแล้ว ทาง BEM จะนำหน้ากากไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานหรือชุมชนที่อยู่รายรอบสถานีด้วย 

  สุวารี บุญสมเกียรติ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) กล่าวว่า มาตรการของรถไฟฟ้า MRT ดี เพราะว่ามีการทิ้งระยะห่างระหว่างกัน มีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณภูมิผ่านหลายขั้นตอนในการที่จะเข้าใช้บริการ ก็เป็นการป้องกันที่จะยับยั้งและไม่ให้โรคมีมากยิ่งขึ้น 

“ตามข่าวมาตลอดว่าเวลาเราออกมาจากบ้าน เราควรทำอย่างไร มีเจลแอลกอฮอล์ไปถึงที่ทำงาน หรือการที่เราต้องมีสุขบัญญัติในพื้นที่สาธารณะ บางครั้งเราเข้าไปในรถ อาจจะมีบางคนที่อาจจะปลดหน้ากาก ถ้าปลดหายใจไม่เป็นไร ถ้าปลดนาน เราเป็นประชาชนไปเตือนเขาตรง ๆ ไม่ได้ อาจจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ เพราะว่าคนที่จะป้องกันอันนี้คือเรา แต่ว่าคนอื่นอาจจะมีหย่อนยานไปบ้าง เรื่องระเบียบวินัยอาจจะค่อย ๆ ฝึก แต่ว่าถ้าฝึกตลอดไป ก่อนที่โรคนี้จะมีวัคซีน ก็จะดีโดยส่วนรวม ก็คิดว่าตรงนี้จะดี ถ้ามีเจ้าหน้าที่ระหว่างสถานีคอยตรวจ เตือนเรื่องหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งจำเป็น” สุวารีกล่าว