“โจโกวี” งัดแผนพัฒนาท่องเที่ยว บรรเทาแผล “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด”

สถานการณ์การขาดดุลเงินบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการค้าของ “อินโดนีเซีย” กำลังเป็นปัญหาที่ต้องควบคุมอย่างเร่งด่วน ล่าสุดรัฐบาล “โจโก วิโดโด” ประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการลงทุนเพื่อส่งออก ให้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

บลูมเบิร์กรายงานว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซีย พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยมีแนวโน้มว่าปีนี้จะขาดดุลสูงสุดถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3% ของจีดีพี ผลจากการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง และเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ไปกว่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนบอนด์ยีลด์ของสหรัฐปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินรูเปียห์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่า 6% ตั้งแต่ต้นปี

โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.25% เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 สัปดาห์ เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ และป้องกันไม่ให้โดนเทขายอีก นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ทุ่มใช้เงินสำรองต่างประเทศไปแล้ว ประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนปัญหา “ขาดดุลการค้า” สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อินโดนีเซียขาดดุลการค้าไปแล้วกว่า 1.02 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นปีที่ 3

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” แถลงร่วมกับธนาคารกลางเมื่อสัปดาห์ก่อนเรียกร้องให้รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลใช้ความพยายามอย่างจริงจังในการช่วยเพิ่มปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ พร้อมกับประกาศนโยบายส่งเสริม 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว และการผลิตเพื่อการส่งออกเพื่อชดเชย 2 ปัญหาใหญ่ที่ประเทศกำลังเผชิญ

Advertisment

โดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศได้ โดยเฉพาะ “ดอลลาร์สหรัฐ” ซึ่งเป็นสกุลเงินที่อินโดนีเซียต้องการมากที่สุด

นายโจโกวีมีคำสั่งให้เพิ่มการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น ตามเป้าหมายที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2019 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในอินโดนีเซีย จะแตะที่ 20 ล้านคน จากเป้าหมาย 17 ล้านคนในปี 2018 (เทียบกับปี 2017 ที่ 14 ล้านคน) โดยแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยสำคัญอันดับหนึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ถึง 7% ตามเป้า จากหลายปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

เป้าหมายหลัก ๆ ของแผนการท่องเที่ยวอยู่ที่ “บาหลี” จุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับนักท่องโลกชาวต่างชาติ โดยจะเพิ่มแลนด์มาร์กอีก 10 จุดในบาหลี ตามที่บรรจุอยู่ในแผน “10 New Balis”

นอกจากนี้ โจโกวียังบรรจุการพัฒนาโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเกาะต่าง ๆ หลายร้อยเกาะนำร่อง จากประมาณ 6,000 เกาะที่มีผู้คนอาศัยอยู่ (ทั้งหมด 17,508 เกาะ) ไล่มาตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเกาะสุมาตราหลายแห่ง เชื่อมไปยังจังหวัดมาลูกูเหนือ ซึ่งจะผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่อย่างเต็มตัว

Advertisment

ขณะที่ นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า ทางธนาคารกลางจะทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเร่งกระบวนการออกใบอนุญาตสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินโลว์คอสต์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาอย่างจริงจัง

โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาสิ่งจูงใจต่าง ๆ สำหรับสายการบินราคาประหยัดให้ขยายเส้นทางบินใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงให้กำหนดราคาตั๋วที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

รวมทั้งได้มีการอัดฉีดมาตรการจูงใจให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่จะเกิดขึ้น จะได้สิทธิประโยชน์ภาษี (tax-breaks) เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานานถึง 50 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังมีแผนจะเข้าเจรจาการค้ากับหลายประเทศในเอเชีย เพื่อหวังลดการขาดดุลทางการค้าที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจโกวีกล่าวถึง “กีฬาเอเชียนเกมส์ 2018” ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ถึง 2 กันยายนนี้ ในกรุงจาการ์ตา และเมืองปาเล็มบัง เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของแผนยกระดับการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ โดยในสัปดาห์หน้าจะเริ่มออกโครงการ และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คึกคักมากขึ้น