นานาชาติรวมตัวใช้มาตรการอะไรลงโทษตำรวจศีลธรรมในอิหร่าน

  • เลย์ลา โคดาบักห์ชี
  • บีบีซี นิวส์ วอชิงตัน
การกระทำของตำรวจศีลธรรมในอิหร่านทำให้เกิดการประท้วงในปัจจุบันขึ้น

ที่มาของภาพ, Reuters

ชาติมหาอำนาจตะวันตกได้เพิ่มแรงกดดันต่อองค์กรหลายแห่งของรัฐบาลอิหร่าน ขณะที่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปทั่วประเทศ องค์กรเหล่านี้รวมถึงตำรวจศีลธรรมที่น่าหวาดกลัว ซึ่งได้ตกอยู่ในความสนใจของผู้คนหลังจากที่ มาห์ซา อามีนี ชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด วัย 22 ปี เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว ทำให้ผู้คนออกมาแสดงความไม่พอใจ

ตำรวจศีลธรรมคืออะไร

ตำรวจศีลธรรม หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ แกชเตแอร์ชาด (Gasht-e Ershad มีความหมายว่า หน่วยลาดตระเวนให้การอบรมสั่งสอน) เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังตำรวจแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ในการทำให้ผู้คนปฏิบัติตามค่านิยมของอิสลามในอิหร่าน รวมถึงการแต่งกาย ไม่แน่ชัดว่า มีเจ้าหน้าที่ชายหญิงสังกัดหน่วยงานนี้มากน้อยแค่ไหน แต่พวกเขาสามารถใช้อาวุธและศูนย์ควบคุมตัวได้ รวมถึงสถานที่ที่เรียกว่า “ศูนย์ปรับทัศนคติ”

ถ้าผู้หญิงคนไหนถูกมองว่า สวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมผม “อย่างไม่เหมาะสม” ตำรวจศีลธรรมสามารถเรียกพวกเธอให้หยุด และควบคุมตัวพวกเธอได้

Advertisment

ภายใน “ศูนย์ปรับทัศนคติ” จะมีการสอนผู้ถูกควบคุมตัวเกี่ยวกับความสำคัญของฮิญาบ จากนั้นจะบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวลงชื่อเพื่อรับปากว่า จะปฏิบัติตามกฎการแต่งกายของรัฐ ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว ผู้หญิงหลายคนต่อต้านการควบคุมตัวนี้ และส่งผลให้ตำรวจต้องจับกุมตัวพวกเธอ

กราฟิก
1px transparent line

มาห์ซา อามีนี ถูกจับกุมตัวในกรุงเตหะรานเมื่อ 13 ก.ย. (เธอเสียชีวิตในสภาพที่ไม่รู้สึกตัวในอีก 3 วันต่อมา) จากการกล่าวหาว่า ละเมิดกฎการสวมฮิญาบ นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด มีรายงานหลายแห่งว่า เจ้าหน้าที่ทุบตีเธอที่ศีรษะด้วยกระบองและจับศีรษะของเธอโขกกับรถ ขณะที่ควบคุมตัวเธอ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า เธอเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวของเธอปฏิเสธ

ผลกระทบของการคว่ำบาตรมีอะไรบ้าง

การคว่ำบาตรน่าจะใช้ได้ผลมากที่สุดกับผู้ที่กำลังคิดจะเข้าร่วมกองกำลังตำรวจศีลธรรม บางคนเข้าร่วมกองกำลังนี้ไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านอุดมการณ์ แต่เพื่อต้องการหารายได้ประทังชีวิต หลายคนไม่ได้เข้าร่วมโดยสมัครใจ แต่ต้องทำหน้าที่รับใช้กองทัพตามข้อกำหนด

การห้ามกำลังพลระดับล่างเดินทางอาจส่งผลทางลบต่อการรับสมัครตำรวจศีลธรรมเหล่านี้

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ความพยายามร่วมกันของชาติตะวันตกหลายชาติเพื่อลงโทษองค์กรต่าง ๆ ของอิหร่าน เช่น ตำรวจศีลธรรม, เรือนจำเอวิน หรือกองกำลังบาซิจ ไม่น่าที่จะทำให้รัฐบาลอิหร่านเปลี่ยนพฤติกรรม

นักเคลื่อนไหวบางส่วนและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต้องการให้มีการคว่ำบาตรต่อญาติและลูก ๆ ของเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่านที่อาศัยอยู่นอกประเทศ หลายคนต้องการให้มีมาตรการทางการเมืองที่เจาะจงมากขึ้น เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านให้หยุดการสังหารหรือการควบคุมตัวประชาชนมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ ฮาเหม็ด เอสไมเลียน เขาเป็นโฆษกให้กับครอบครัวของเหยื่อเครื่องบินโดยสารของยูเครนที่ถูกกองทัพอิหร่านยิงตกในกรุงเตหะรานเมื่อ 2 ปีก่อน (เหตุการณ์ที่อิหร่านระบุว่า เป็นอุบัติเหตุ)

เขาเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องให้มีการประท้วงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เชื่อว่า นี่เป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่จัดโดยชาวอิหร่านพลัดถิ่น

ขณะนี้ นายเอสไมเลียน ได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำของกลุ่มจี 7 ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดในโลก ขับนักการทูตอิหร่านออกจากประเทศ และรวบรวมรายชื่อเพื่อสนับสนุนคำร้องนี้ได้แล้วราว 700,000 ชื่อ

ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า มาตรการลงโทษที่รุนแรงที่สุดต่อบุคคลต่าง ๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิหร่านจะไม่ทำให้เกิดผลอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ทางการที่อยู่ในรายชื่อเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่น่าที่จะมีทรัพย์สินใด ๆ ถูกอายัดในสหรัฐฯ, แคนาดา หรือยุโรป

ใครปราบปรามการประท้วง

ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอิหร่านหลายพันคนได้ประท้วงต่อต้านกลุ่มผู้นำศาสนาในกว่า 100 เมือง คลิปวิดีโอทางโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นการปราบปรามของกองกำลังความมั่นคง ซึ่งมีการใช้ทั้งกระสุนจริง การทุบตี และการล่วงละเมิดทางเพศ

Iranian woman protesting

ที่มาของภาพ, Rex Features

กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่านที่ตั้งอยู่ในกรุงออสโลของนอร์เวย์ ระบุว่า มีประชาชนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 234 คน รวมถึงเด็ก 29 คน เชื่อว่า ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก สำนักข่าวนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน (Human Rights Activists News Agency–HRANA) ของอิหร่าน ประเมินว่า มีประชาชนถูกควบคุมตัวแล้ว 13,309 คน จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวและเด็ก

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กองกำลังใดเข้าร่วมในการปราบปรามการประท้วงที่โหดร้าย ทำให้เป็นเรื่องยากในการที่ชาติตะวันตกจะพุ่งเป้าใช้การคว่ำบาตรต่อผู้ที่มีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานย่อยของตำรวจอิหร่านหลายแห่งรวมถึงหน่วยกองกำลังพิเศษนาจา (Naja Special Forces Unit) และหน่วยที่เรียกว่า โนโป (ผู้พิทักษ์กองกำลังพิเศษกฎหมายอิสลาม) กลุ่มต่าง ๆ ในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านอย่างสมาชิกของกองกำลังต่อต้านบาซิจ (Basij Resistance Force) และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่และปรากฏอยู่ในคลิปที่มีการโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและตะวันตก

นักเคลื่อนไหวบางส่วนโดยเฉพาะที่อยู่นอกอิหร่าน ต้องการให้บรรดาชาติตะวันตกทำมากกว่าการแสดงคำพูดสนับสนุนและบังคับใช้การคว่ำบาตรใหม่ ๆ

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าอิหร่านจะเข้าใกล้จุดที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือกองกำลังความมั่นคงกำลังถูกบ่อนทำลาย รัฐบาลต่างชาติคงจะมองหาสัญญาณการปรากฏตัวของผู้นำจากฝ่ายต่อต้าน

ณ จุดนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณว่า บรรดาชาติตะวันตกเตรียมตัวที่จะตัดสัมพันธ์กับอิหร่าน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพรรคเดโมเครตของสหรัฐฯ ซึ่งกังวลถึงผลกระทบต่อการเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่าน ไม่สนับสนุนร่างกฎหมายที่พรรครีพับลิกันเสนอให้มีการคว่ำบาตร อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และประธานาธิบดีเอบราฮีม ไรอีซี

ใครหรืออะไรที่ถูกคว่ำบาตรแล้วบ้าง

กระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักรระบุว่า กำลังมีการคว่ำบาตรมูฮัมหมัด รอสตามี เชชเมห์ กาชี ผู้บัญชาการตำรวจศีลธรรม และฮัจ อาห์หมัด เมียร์ซาอี หัวหน้าหน่วยตำรวจศีลธรรมกรุงเตหะราน ต่อการเสียชีวิตของมาห์ซา อามีนี

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทางการด้านความมั่นคงหลายคน จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหลายอย่าง รวมถึง :

  • โกลัมเรซา ซูเลมานี หัวหน้ากองกำลังบาซิจ
  • ฮัสซัน คารามี ผู้บัญชาการหน่วยกองกำลังพิเศษนาจา
  • ฮูสเซน อัชตารี ผู้บัญชาการตำรวจอิหร่าน
  • เลลา วาเซกี อดีตผู้ว่าการจังหวัดชาห์เรคูดส์
  • ฮัสซัน ชาห์วาร์ปูร์ ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านในจังหวัดคูเซสถาน

สหภาพยุโรป ระบุว่า กำลังบังคับใช้การคว่ำบาตรต่อ 11 คนและ 3 องค์กร นอกเหนือไปจากตำรวจศีลธรรม โดยมูฮัมหมัด รอสตามี และฮาจาห์หมัด เมียร์ซาอี ตำรวจศีลธรรมที่สำคัญ 2 คน อยู่ในกลุ่ม 11 คนดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้คว่ำบาตรกองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Forces–LEF) ของอิหร่าน และผู้บัญชาการของกองกำลังนี้ในระดับท้องถิ่นหลายคนด้วย จากการที่มีบทบาทในการปราบปรามการประท้วง

ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปได้คว่ำบาตร อิสซา ซาเรปูร์ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารของอิหร่าน จากการที่กีดกันสัญญาณอินเทอร์เน็ตและขัดขวางความสามารถในการโพสต์เนื้อหาทางโซเชียลมีเดียของผู้ประท้วง

ส่วนมาตรการคว่ำบาตรของแคนาดาครอบคลุมถึงองค์กรต่าง ๆ อย่างสภาผู้ปกครองและสภาผู้เชี่ยวชาญรวมถึงสมาชิกของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านอีกหลายพันคน ซึ่งจะถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศแคนาดา

แคนาดายังคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทางการจำนวนมากรวมถึงนายมูฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน, อาเมียร์ ฮาตามี นายพลของกองทัพบกและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และซาอีด มอร์ตาซาวี อัยการอิหร่านซึ่งแคนาดาระบุว่า เป็นผู้สั่งทรมานซาห์รา คาเซมี นักข่าวชาวแคนาดาเชื้อสายอิหร่าน คาเซมี เสียชีวิตจากการกระทำทารุณระหว่างการถูกควบคุมตัวในปี 2003

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรต่อผู้นำอาวุโส 7 คน จากองค์กรด้านความมั่นคงของอิหร่าน รวมถึงตำรวจศีลธรรม, กระทรวงข่าวกรองและความมั่นคง, กองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพบก, บาซิจ และ LEF

ขณะที่อิหร่านได้ตอบโต้ด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรของตัวเองต่อบุคคลและองค์กรของอังกฤษหลายแห่ง จากข้อกล่าวหาที่ว่า “ยั่วยุให้เกิดจลาจล” และ “สนับสนุนการก่อการร้าย”

การคว่ำบาตรของอิหร่านรวมถึง การห้ามออกวีซ่าและการห้ามเข้าประเทศ รวมถึงการยึดทรัพย์สินของบุคคลที่ทางการกำหนดในอิหร่าน

ผู้ที่ตกเป็นเป้ารวมถึง จีซีเอชคิว (GCHQ) สำนักงานใหญ่ด้านการสื่อสารของรัฐบาลอังกฤษ, บีบีซีภาคภาษาเปอร์เซีย, สถานีโทรทัศน์ระหว่างประเทศของอิหร่าน, และทอม ทูเกนด์ฮาต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักร

…….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว