หญิงเกาหลีใต้ลุกขึ้นสู้ หลังรัฐบาลเล็งยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ

 

Women in Seoul hold signs protesting against the government's plans to abolish the Gender Equality Ministry

BBC
ผู้หญิงในกรุงโซลออกมาประท้วงแผนการของรัฐบาลในการยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ

 

ตอนที่ยูนา (นามสมมุติ) เข้าทำงานวันแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินของธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ เธอต้องประหลาดใจกับงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ สิ่งแรกคือการจัดเตรียมอาหารให้เพื่อนร่วมทีม จากนั้นเธอได้รับคำสั่งให้นำผ้าเช็ดมือในห้องน้ำชายกลับไปซักที่บ้าน

ยูนาบอกว่าภาระหน้าที่นี้ตกเป็นของเธอ เพราะเธอคือพนักงานหญิงคนใหม่ในธนาคาร

ตอนแรกยูนาพยายามปฏิเสธอย่างสุภาพ เธอตั้งคำถามว่าทำไมผู้ชายถึงเอาผ้าเช็ดมือของตัวเองกลับไปซักที่บ้านไม่ได้ แต่หัวหน้าของเธอตอบกลับมาว่า “คุณคาดหวังให้ผู้ชายซักผ้าเช็ดมือได้ยังไง”

“เขาโกรธมาก และฉันก็ตระหนักว่าถ้ายังสู้ต่อไป การคุกคามคงจะเลวร้ายลง ฉันเลยต้องซักผ้าเช็ดมือพวกนั้น” ยูนาเล่า

แต่เพราะเธอได้แสดงความไม่พอใจออกไปแล้ว ยูนาจึงถูกหมายหัว

เธอจำใจต้องทำ “หน้าที่ของพนักงานหญิงคนใหม่” แต่ขณะเดียวกันก็ถ่ายคลิปเก็บหลักฐานทุกอย่างเอาไว้ แล้วนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปร้องเรียนให้รัฐบาลเข้าตรวจสอบ

สิ่งที่ทำให้ยูนารู้สึกแย่ที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องที่ถูกเพื่อนร่วมงานชายรังแก ซึ่งหนักหน่วงขึ้นทุกวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องที่เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหญิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในวัย 20 ปีเศษเหมือนกัน

Yuna making lunch

BBC
ยูนาถ่ายคลิปที่ตัวเองถูกบังคับให้เตรียมอาหารเที่ยงให้เพื่อนร่วมงาน แล้วนำเรื่องร้องเรียนให้รัฐบาลเข้าตรวจสอบ

 

เกาหลีใต้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านวัฒนธรรมและเทคโนโลยี แต่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นหนึ่งในชาติร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น ได้ทิ้งผู้หญิงเอาไว้เบื้องหลัง

ผู้หญิงมีรายได้ราว 1 ใน 3 ของผู้ชายที่ทำงานตำแหน่งเดียวกัน ส่งผลให้เกาหลีใต้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศร่ำรวย ปัจจุบันมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนของเกาหลีใต้เพียง 5.8% นอกจากจะทำงานนอกบ้านแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ยังได้รับการคาดหวังให้รับภาระงานบ้านและการเลี้ยงลูกด้วย

แม้เกาหลีใต้จะมีความเจริญก้าวหน้าในหลายภาคส่วน แต่ปัญหาการคุกคามทางเพศยังมีให้เห็นอย่างแพร่หลาย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เฟื่องฟูยิ่งทำให้มีการหาประโยชน์จากอาชญากรรมทางสื่อดิจิทัลแพร่หลายมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการแอบถ่ายในห้องน้ำหรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า

แต่แทนที่จะให้คำมั่นในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ยุน ซ็อก-ยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้กลับพูดว่า ปัญหาการเหยียดเพศที่ฝังรากลึกในระบบต่าง ๆ ของเกาหลีใต้นั้น “เป็นเรื่องในอดีต”

นายยุนก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยแรงหนุนจากบรรดาคนหนุ่มที่อ้างว่า ความพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงนั้น ทำให้ผู้ชายกลายเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติ

ตอนที่เข้าบริหารประเทศ นายยุนได้ยกเลิกการแบ่งสัดส่วนผู้เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลจากเพศ โดยชี้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องมาจากความสามารถไม่ใช่เพศ ส่งผลให้รัฐบาลของเขามีการแต่งตั้งผู้หญิงเข้าทำงาน 3 คน จากทั้งหมด 19 ตำแหน่งในรัฐบาล

ล่าสุดนายยุนพยายามให้ยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงและผู้ตกเป็นเหยื่อการทำร้ายทางเพศ โดยอ้างว่าเป็นกระทรวงที่ล้าสมัย ส่งผลให้องค์กรกว่า 800 แห่งรวมตัวกันประท้วงแผนยุบกระทรวงนี้ โดยชี้ว่านี่อาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตของผู้หญิงเกาหลีใต้

A male protest in Seoul

News1
คนหนุ่มลุกขึ้นต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม เพราะกังวลว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคมที่มีการแข่งขันสูงอย่างเกาหลีใต้

หนึ่งในผู้เข้าร่วมการต่อสู้นี้คือ ปัก จี-ฮุน นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีวัย 28 ปี

เธอได้รับการชักชวนจากพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นฝ่ายค้านให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในรักษาการหัวหน้าพรรค และช่วยงานด้านปฏิรูปการเมือง รวมทั้งเป็นตัวแทนของหญิงสาวรุ่นใหม่ในสังคมเกาหลีใต้ โดยเธอมีชื่อในคณะกรรมการสตรีซึ่งมุ่งขจัดอาชญากรรมทางเพศออนไลน์

ทว่าเมื่อบีบีซีได้พูดคุยกับ ปัก จี-ฮุน อีกครั้งในอีก 6 เดือนถัดมา กลับพบว่าเธอไม่ได้ทำงานให้พรรคอีกต่อไปแล้ว และต้องย้ายบ้าน เพราะข้อมูลที่อยู่ของเธอรั่วไหลออกไป

ปัก จี-ฮุน เล่าว่าเธอได้รับคำขู่ฆ่ามากมาย หนึ่งในนั้นมาจากคนที่ขู่จะเอาน้ำกรดกรอกปากเธอ หรือไม่ก็สาดใส่หน้าเธอ หญิงสาวยอมรับว่าระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต เพราะต้องพบเจอกับการเหยียดเพศและความเกลียดชังผู้หญิงที่มีดาษดื่นในแวดวงการเมือง

ในช่วงที่ทำงานนี้ ปัก จี-ฮุน มักเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในการประชุม และเมื่อเธอแสดงความคิดเห็นอะไรก็จะไม่ได้รับความสนใจ

“พวกเขาไม่สนใจฉัน ฉันเลยต้องร้องตะโกน…เวลาที่ฉันอยากอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม พวกเขามักพูดว่า ‘เธอควรมุ่งความสนใจไปที่เรื่องที่เธอรู้ อย่างประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง หรืออาชญากรรมทางเพศ’ ตอนนั้นฉันตระหนักได้ว่า ฉันเป็นเพียงหุ่นเชิดที่ถูกใช้เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากผู้หญิง”

ในที่สุดปัก จี-ฮุน ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือน มิ.ย. หลังพรรคประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

Park Jihyun

BBC
ปัก จี-ฮุน เผชิญการเหยียดเพศในขณะที่เข้าไปทำงานการเมือง

 

ปัก จี-ฮุน มีชื่อเสียงในช่วงที่เป็นนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจากการเปิดโปงขบวนการอาชญากรรมทางเพศ ที่แบล็คเมล์ให้หญิงสาวถ่ายภาพอนาจารของตัวเอง และทำให้หัวหน้าขบวนการถูกตัดสินจำคุก

การประทุษร้ายและคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์เป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้ โดยในปี 2021 มีการแจ้งคดีอาชญากรรมทางเพศ 11,568 คดี เพิ่มขึ้น 82% จากปี 2020

ปัญหานี้ทำให้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ เพราะกลัวตกเป็นเหยื่อการตั้งกล้องแอบถ่าย

ในปี 2018 ผู้หญิงเกาหลีใต้เป็นชาติแรก ๆ ในเอเชียที่ออกมาเคลื่อนไหวในขบวนการ #MeToo เพื่อต่อต้านปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทว่าในเวลาต่อมาได้เกิดกระแสต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมไปทั่วประเทศจากกลุ่มคนหนุ่มที่กังวลว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคมที่มีการแข่งขันสูงอย่างเกาหลีใต้

การเคลื่อนไหวของชายกลุ่มนี้ทำให้ “สตรีนิยม” กลายเป็นคำแสลงหู ถึงขั้นที่ผู้หญิงบางคนรู้สึกอับอาย หรือกลัวที่จะใช้คำนี้

#MeToo protesters in Seoul

Getty Images
ขบวนการ #MeToo ได้จุดกระแสต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมไปทั่วประเทศจากกลุ่มคนหนุ่มเกาหลีใต้ที่บอกว่าแนวคิดนี้ทำให้ผู้ชายถูกเลือกปฏิบัติ

 

ลี จุน-ซ็อก ชายวัย 37 ปีที่เสนอให้ยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศกล่าวว่า “ผู้หญิงเคยถูกลิดรอนสิทธิในอดีต แต่ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขไปมากแล้ว”

เขาคือผู้ช่วยให้พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ได้รับคะแนนสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงชาย และชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

“ความเสมอภาคทางเพศได้เข้าสู่ยุคใหม่ เราจำเป็นต้องมีระบบใหม่ที่ก้าวข้ามแนวคิดสตรีนิยมและมุ่งเน้นไปที่สิทธิของคนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในสังคม” เขากล่าว

ปัจจุบัน กระทรวงความเสมอภาคทางเพศได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% จากงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาล แต่ถึงอย่างนั้น ผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากระบุว่า กระทรวงนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเธอ

นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน กระทรวงความเสมอภาคทางเพศได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อการตั้งกล้องแอบถ่าย รวมทั้งผู้หญิงที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะตั้งครรภ์ และช่วยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น

Yoon and his cabinet

News1
ปธน.ยุน ซ็อก-ยอล (คนกลาง) ยกเลิกการแบ่งสัดส่วนผู้เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลจากเพศ ส่งผลให้รัฐบาลของเขามีการแต่งตั้งผู้หญิงเข้าทำงาน 3 คน จากทั้งหมด 19 ตำแหน่ง

 

รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า แม้จะมีข้อเสนอให้ยุบกระทรวงนี้ แต่หน่วยงานที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมจะยังดำเนินต่อไปโดยจะย้ายไปอยู่ในสังกัดกระทรวงอื่นแทน

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล กล่าวเมื่อเดือน ต.ค.ว่าแผนการนี้จะช่วย “คุ้มครองผู้หญิงได้มากขึ้น” แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แผนการยุบกระทรวงยังอาจถูกยับยั้งได้จากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งกุมเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยฝ่ายค้านชี้ว่า การยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศจะส่งผลเสียต่อความคืบหน้าเรื่องสิทธิสตรีของเกาหลีใต้ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน

อานะ นอนไม่หลับตั้งแต่ได้ทราบข่าวการเสนอให้ยุบกระทรวงนี้ ซึ่งเคยช่วยชีวิตเธอไว้ในยามที่คนรอบตัวไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่ให้ความช่วยเหลือเธอหลังตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ

อานะเล่าให้บีบีซีฟังว่า เมื่อ 6 ปีก่อนเธอถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยข่มขืน ทว่าเมื่อเธอโทรบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อฟัง เขากลับตำหนิว่าเธอนำความอับอายมาสู่ครอบครัวแล้ววางสายไป

เมื่ออานะพยายามเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เจ้าหน้าที่กลับขอให้เธอแสดงหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหา ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือ อานะจึงเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ซึ่งบอกว่าเธอมีอาการหลงผิดและปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ

“ฉันรู้สึกเหมือนติดอยู่ในห้องมืดที่ไม่มีทางออก” อานะกล่าว พร้อมกับเล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอพยายามฆ่าตัวตายไม่กี่เดือนหลังจากนั้น

Ana at shelter

BBC
อานะบอกว่ากระทรวงความเสมอภาคทางเพศช่วยชีวิตเธอในยามที่ครอบครัวหันหลังให้หลังจากถูกข่มขืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงความเสมอภาคทางเพศยื่นมือเข้าช่วย ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดหาสถานที่ปลอดภัยให้เธอได้พักพิง พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ จนอานะสามารถดำเนินคดี และทำให้อาจารย์ที่ข่มขืนเธอได้รับโทษจำคุกในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่อานะ และเธอยังคงฝันร้ายอยู่เสมอ

“ฉันได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงนี้มากกว่าครอบครัวของฉันเอง…การยุบกระทรวงนี้เป็นความคิดที่อันตราย” เธอกล่าว

เมื่อเดือน พ.ย. ยูนา พนักงานธนาคารได้รับการติดต่อจากรัฐบาลที่แจ้งว่าผลการสอบสวนพบว่าธนาคารทำผิดกฎหมายฐานคุกคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทางการมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายค่าปรับ และให้ยูนาย้ายไปทำงานที่สาขาอื่น

ความคิดเรื่องการกลับไปทำงานอีกครั้งทำให้ยูนารู้สึกไม่ดีนัก แต่เธอก็ดีใจที่ได้ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นต่อทางการ และนับตั้งแต่นั้นก็มีพนักงานหญิงคนอื่นติดต่อยูนาแล้วเล่าเรื่องลักษณะเดียวกันให้เธอฟัง

“ฉันคิดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความเสมอภาคทางเพศเริ่มดีขึ้น แต่นี่คือเมืองเล็ก ๆ และยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ท่านประธานาธิบดีคิดไม่รอบคอบพอ” ยูนาแสดงความกังวลว่าการยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศจะทำให้ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ต้องถูกทำลายลง

“ถ้ากระทรวงถูกยุบไป สิ่งที่พวกเราได้สร้างมาก็จะพังทลาย”

BBC 100 Women logo 2022

BBC

 

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว