ญี่ปุ่นล่าตัวมือดี ขู่วางระเบิดโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ

ผู้ก่อเหตุส่งคำขู่วางระเบิดและขู่ฆ่าผ่านแฟกซ์ หรือโทรสาร ไปยังโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา / Getty Images

ตำรวจญี่ปุ่นกำลังไล่ล่าตัวการที่อยู่เบื้องหลัง การขู่วางระเบิดและขู่ฆ่าไปยังโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงเรียนจำนวนมากต้องรีบปิดการเรียนการสอนอย่างปัจจุบันทันด่วน

ผู้ก่อเหตุส่งคำขู่วางระเบิดและขู่ฆ่าดังกล่าวผ่านแฟกซ์ หรือโทรสาร ไปยังโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เบอร์โทรสารต้นทางพบว่า จดทะเบียนอยู่ในกรุงโตเกียว

อย่างไรก็ดี ตำรวจไม่พบวัตถุระเบิดตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับเอกสารขู่วางระเบิดดังกล่าว อีกทั้ง ยังไม่มีรายงานการจู่โจมทำร้ายนักเรียน หรือเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนแต่อย่างใด จนถึงวันนี้

การขู่วางระเบิดถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราก่ออาชญากรรมที่ต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Advertisment

โทรสารขู่วางระเบิดชุดแรก ถูกส่งไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ม.ค. โดยจังหวัดไซตามะ ถือว่าได้รับโทรสารขู่วางระเบิดมากที่สุดกว่า 170 โรงเรียน

สื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่นรายงานว่า โทรสารฉบับหนึ่งอ้างว่า ได้วางระเบิดมากถึง 330 ลูกภายในโรงเรียน และมีลูกหนึ่งที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก โดยโทรสารระบุไว้ว่า “ฉันได้วางระเบิดลูกใหญ่ไว้”

รายงานของสื่อบางสำนักยังระบุว่า โทรสารยังเรียกค่าไถ่เป็นเงิน ตั้งแต่ 75,000 บาท ถึง 750,000 บาท

พอเข้าสู่วันอังคาร ผู้ก่อเหตุได้ส่งโทรสารขู่ว่าจะสังหารนักเรียนและอาจารย์ ด้วยอาวุธทำมือ โดยโทรสารขู่ฆ่าเหล่านี้ ถูกส่งไปยังโอซากะ ไซตามะ และอิบารากิ

Advertisment

ตำรวจพบว่า แม้จะไม่ใช่การขู่วางระเบิด แต่โทรสารขู่สังหารเหล่านี้ มีต้นทางจากหมายเลขโทรศัพท์เดียวกัน

การขู่วางระเบิดและขู่ฆ่าหลายระลอกนี้ ส่งผลให้โรงเรียนจำนวนมากทั่วญี่ปุ่น ต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย

แต่เช้าวันที่ 26 ม.ค. โรงเรียนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาเปิดเรียนตามปกติแล้ว

แม้หลายประเทศทั่วโลก แฟกซ์ หรือโทรสาร จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว แต่ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่ยังนิยมใช้แฟกซ์อยู่ทั้งตามบ้านเรียน สำนักงาน และสถาบันศึกษา

วัฒนธรรมความรุนแรงในญี่ปุ่น

การที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราอาชญากรรมต่ำ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมที่อุกอาจ หรือการลอบสังหารขึ้น ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับประเทศ โดยเฉพาะกรณีการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อกลางปีที่แล้ว

รูเพิร์ต วิงฟิลด์-เฮยส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำญี่ปุ่น เล่าในเวลานั้นว่า “เวลาที่ผมพูดว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยคิดหรือกังวลกับเรื่องอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและร่างกายนั้น ผมไม่ได้พูดเกินจริงเลย”

“จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นมีแก๊งยากูซ่า แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว อันที่จริง แม้แต่แก๊งยากูซ่าเองก็มักหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธปืน เพราะบทลงโทษการครอบครองอาวุธปืนโดยผิดกฎหมายนั้นไม่คุ้มกันเลย”

ชินโซ อาเบะ ถูกลอบยิงสังหารเมื่อกลางปี 2022
ชินโซ อาเบะ ถูกลอบยิงสังหารเมื่อกลางปี 2022 / Getty Images

การครอบครองอาวุธปืนในญี่ปุ่นทำได้ยากมาก เพราะกำหนดให้บุคคลที่ต้องการครอบครองต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม และต้องผ่านการฝึกใช้ปืน การประเมินทางด้านจิตใจ และการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงการที่ตำรวจไปเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อนบ้าน” ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำญี่ปุ่น กล่าว

ด้วยเหตุนี้ อาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนจึงแทบจะไม่มีในญี่ปุ่น และโดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนไม่ถึง 10 รายต่อปี ในปี 2017 มีเพียง 3 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ดี รูเพิร์ต วิเคราะห์ปรากฏการณ์หนึ่งได้น่าสนใจ คือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการก่ออาชญากรรมรูปแบบหนึ่งเพิ่มมากขึ้นในญี่ปุ่น โดยเป็นการก่อเหตุของผู้ชายท่าทางเงียบ ๆ และอยู่อย่างสันโดษซึ่งมีความโกรธแค้นต่อบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ในปี 2019 ชายคนหนึ่งได้วางเพลิงสตูดิโอผู้ผลิตอนิเมะในเมืองเกียวโต เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 คน

ชายมือวางเพลิงให้การกับตำรวจว่ามีความแค้นต่อสตูดิโอแห่งนี้ที่ “ขโมยผลงานของเขาไป”

ในปี 2008 ชายหนุ่มที่มีความโกรธแค้นคนหนึ่งได้ขับรถบรรทุกพุ่งใส่ผู้คนในย่านการค้าอากิฮาบาระ ของกรุงโตเกียว จากนั้นได้ลงจากรถแล้วไล่แทงผู้คนบริเวณนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย

ก่อนลงมือก่อเหตุ เขาได้โพสต์ข้อความทางออนไลน์ว่า “ผมจะฆ่าคนที่ย่านอากิฮาบาระ” และ “ผมไม่มีเพื่อนสักคน ผมถูกมองข้ามเพราะผมขี้เหร่ และต้อยต่ำยิ่งกว่าเศษขยะ”

ยังไม่ชัดเจนว่าการลอบสังหารนายอาเบะเข้าข่ายการโจมตีแบบกรณีที่หนึ่ง หรือกรณีที่สอง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป

การที่คนส่วนใหญ่มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย และไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำให้ช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แบบเดียวกับของนายอาเบะตอนที่เกิดเหตุ ก็ทำให้บรรดานักการเมืองออกไปยืนปราศรัยตามท้องถนนและจับมือทักทายกับประชาชนที่เดินผ่านไปมาอย่างใกล้ชิด

นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนร้ายที่มุ่งโจมตีนายอาเบะสามารถเข้าถึงตัวเขาได้อย่างใกล้ชิด แล้วลั่นไกปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเองปลิดชีพอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้

 

หมายเหตุ : ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว