เจาะมายาคติการกิน “เหี้ย” ผ่านชุมชนที่ ผัด-แกง-ย่าง เนื้อตัวเงินตัวทอง ด้วยความเชื่อเป็นยา

Getty Images ชุมชนหลายแห่งในอินโดนีเซียบริโภคเนื้อตัวเงินตัวทองเป็นประจำ

“ตำรวจยึดตัวเงินตัวทองเกือบ 100 ตัว ส่งให้โรงงานทำลูกชิ้น” และ “ลูกชิ้นทำจากตัวเหี้ยไม่มีจริง” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวที่สื่อออนไลน์ในไทย ระดมรายงานเกี่ยวกับข่าวการเข้าตรวจยึดตัวเงินตัวทองเกือบ 100 ตัว ที่เตรียมถูกนำมาชำแหละขาย

สื่อหลายสำนักรายงานว่า ตัวเงินตัวทอง หรือเรียกกันชินปากว่า “ตัวเหี้ย” ไม่ว่าคนไทยจะสะดวกใจเรียกแบบไหน กำลังถูกนำส่งโรงงานทำลูกชิ้นในจังหวัดสุพรรณบุรี “ขายทั่วจังหวัดภาคกลาง” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ หลายคนกังวลว่า “เรากินลูกชิ้นตัวเหี้ยไปหรือยัง”

ต่อมา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ยืนกรานว่า แม้ภาพการจับกุมและยึดตัวเงินตัวทองเกือบร้อยตัวจะเป็นจริง แต่ซากตัวเงินตัวทองเหล่านี้ ไม่ได้นำไปทำลูกชิ้น แต่จะขายต่อที่ตลาดชายแดนภาคตะวันออก เพื่อนำไปประกอบอาหารป่าแก่ผู้ชื่นชอบเท่านั้น

แล้วการกินตัวเหี้ย เป็นเรื่องที่น่าขยะแขยงเหมือนที่ผู้ใช้สังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อย เพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่กินอาหารหลายประเภท โดยเฉพาะซากเน่าของสัตว์ที่ตายแล้ว เหมือนความเห็นที่มีคนแสดงต่อข่าวนี้จริงหรือไม่ บีบีซีไทยพาไปหาคำตอบ

กินเหี้ยมีประโยชน์ ?

นับแต่ปี 2562 ถึง ธ.ค. 2563 ทีมนักวิจัยชาวอินโดนีเซีย จากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย ได้ตระเวนไปยังหลายเมืองของอินโดนีเซีย รวมถึงเมืองคาราวัง เมืองซิบินอง และเมืองเซียบอง ในจังหวัดชวาตะวันตก

สิ่งที่พวกเขาสนใจคือโรงฆ่าสัตว์ ร้านขายของป่า และร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อพูดคุยถึงพฤติกรรม ความเห็น และข้อเท็จจริงทางโภชนาการของการกินเนื้อ Varanus salvator หรือ ตัวเงินตัวทอง

พวกเขาพบว่า ประชาชนในจังหวัดชวาตะวันตก นิยมกินเนื้อตัวเงินตัวทองที่พบในพื้นที่มากกว่าที่คิด เป็นจำนวนกว่า 50,000 ตัวต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิจัยยังพบว่า วัฒนธรรมการกินเนื้อตัวเงินตัวทองแพร่หลายไปยังอีกหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อว่าเป็นอาหารที่มีสรรพคุณทางยา หรือเพื่อรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร เป็นต้น

Journal of Tropical Ethnobiology

Journal of Tropical Ethnobiology
ผ่าตัวเงินตัวทองออกมาแล้ว พบไข่เต่า ปลา และสิ่งอื่น ๆ มากมายในท้อง

จากการตรวจสอบเมนูอาหารบนอินเทอร์เน็ตของร้านที่จำหน่ายเนื้อตัวเงินตัวทอง พบว่า มันถูกนำมาทำเป็น ข้าวผัด อาหารทอด และเนื้อสะเต๊ะ ราคาอยู่ที่ 45-115 บาทต่อจาน

การค้นพบนี้ ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมของทีมวิจัย และในฐานะคนเมืองเปลี่ยนไป จากเดิมที่พบว่า มีเพียงชนเผ่าพื้นเมืองไม่กี่เผ่าในอินโดนีเซีย ที่ทานเนื้อตัวเงินตัวทอง รวมถึงชนเผ่าบาตักบนเกาะสุมาตรา เผ่าดายักในกาลิมันตัน และเผ่ามินาฮาสะบนหมู่เกาะสุลาเวสี

ล้อมวงกินตัวเงินตัวทองในครอบครัว

ระหว่างที่ทีมวิจัยเดินทางไปตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ในเมืองเซียบอน ในจังหวัดชวาตะวันตก พวกเขาพบว่า พนักงานโรงงานฆ่าสัตว์มักนำเนื้อตัวเงินตัวทองมาปรุงอาหารทานกันในครอบครัว โดยพวกเขาจับสัตว์เลื้อยคลานยักษ์นี้ ที่พบตามหนองน้ำ หรือฟาร์มเลี้ยงปลาดุก การกินตัวเงินตัวทองของพวกเขา จึงถูกมองเป็นการกำจัดสัตว์ที่เข้ามากินปลาของพวกเขา

เมนูเด็ดหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ คือ แกงเนื้อตัวเงินตัวทองเผ็ดร้อน ที่เรียกว่า pedesan มีการใช้หอมแดง กระเทียม ขมิ้น พริกแดง และตะไคร้ ทำให้เป็นอาหารที่มีกลิ่นหอม รสจัดจ้าน

โรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ ยังนำเนื้อพวกมันมาแปรรูปเป็น “ในลักษณะคล้ายเนื้อหยอง” เพื่อให้เก็บรักษาได้นาน โดยราคาจะถูกกว่าเนื้อหยองชนิดอื่น ๆ พอควร ดังนั้น ทีมวิจัยสรุปได้ว่า เนื้อสัตว์ชนิดนี้เป็นตัวเลือกการบริโภคโปรตีนที่ราคาถูกสำหรับประชาชน

Journal of Tropical Ethnobiology

Journal of Tropical Ethnobiology
การทำสะเต๊ะตัวเงินตัวทอง (ซ้าย) และสะเต๊ะแกะ (ซ้าย) สีคล้ายกัน
เนื้อตัวเงินตัวทองผัดเผ็ด

Journal of Tropical Ethnobiology
เนื้อตัวเงินตัวทองผัดเผ็ด

แต่สำหรับประชาชนในเมืองคาราวัง หลายคนมีความเชื่อว่า การรับประทานเนื้อตัวเงินตัวทองสามารถรักษาโรคผิวหนังบางประเภทได้ ซึ่งมีธุรกิจจำนวนไม่น้อย ใช้จุดขายนี้ของมัน เปิดร้านอาหารและซุ้มอาหารที่จำหน่ายอาหารจากพวกมัน

ร้านหนึ่งชื่อ “วารุง โคบรา” เปิดมาตั้งแต่ปี 2527 เป็นร้านจำหน่ายวัตถุดิบปรุงอาหารเฉพาะทาง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งตัวเงินตัวทอง

แม้จะจำหน่ายอาหารในร้าน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ตามที่ทีมวิจัยสังเกตการณ์นั้น มักจะซื้อเนื้อกลับไปบ้าน มากกว่าจะอยู่ทานที่ร้าน เมื่อตรวจสอบจึงพบว่า ประชาชนไม่อยากทานเนื้อพวกมันในที่สาธารณะ หรือให้คนพบเห็น แต่พวกเขาก็อยากทานเนื้อจากพวกมัน เพราะเชื่อว่า จะช่วยรักษาสิว และผื่นคัน

แล้วยังมีแผงเร่ขายเนื้อเหี้ยแบบสตรีทฟู้ดหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในหลายเมืองที่ทีมวิจัยเข้าสำรวจ รวมถึงเมืองซิบินอง เช่นร้าน “วารุง โคบรา” ที่เริ่มจากเป็นแผงหาบเร่ ก่อนยกระดับเป็นร้านอาหาร ด้วยจุดเด่นคือ อาหารที่มีสรรพคุณทางยา และอาหาร “สุดโต่ง” ลูกค้าของร้านเชื่อว่าการบริโภคเนื้อเหี้ย เป็นยาชูกำลังวังชาทางเพศได้

ร้านแห่งนี้ยังไม่ได้จำหน่ายแค่อาหารที่ทำมาจากเนื้อพวกมันในรูปแบบ การทอด เนื้อหยอง สะเต๊ะ และซุป เท่านั้น แต่ยังนำมาแปรรูปเป็น น้ำมัน แคปซูล ครีมทาผิว ซึ่งลูกค้าเชื่อว่า สามารถรักษาโรคทางผิวหนังได้

ด้วยปริมาณตัวเงินตัวทองที่นำมาจำหน่ายเป็นอาหารและอื่น ๆ ทีมวิจัยพบว่า มีการจัดซื้อเนื้อพวกมันมาจากนอกเมืองซิบินองในราคาตัวละ 570 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายเป็นอาหาร หรือแปรรูปแล้ว ทางร้านมีกำไรจากซากของมัน 1 ตัว กว่า 2 เท่า คือ 1,150 บาท

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านชาติพันธุ์วิทยาเขตร้อน สรุปงานวิจัยนี้ว่า การบริโภคตัวเงินตัวทอง ในบางชุมชนของชวาตะวันตก เป็นผลมาจากความเชื่อถึงสรรพคุณการรักษาปัญหาผิวหนัง ไม่เพียงเท่านั้น บางชุมชนยังถูกปลูกฝังในทางศาสนาว่า ไม่ควรทานเนื้อสัตว์ที่ดุร้าย ดังนั้น พวกมันจึงเป็นหนึ่งในสัตว์ที่พวกเขาเลือกทานได้

อาหารที่ทำมาจากเนื้อของพวกมันยังเป็น “อาหารสุดโต่ง” หรืออาหารจานพิสดาร ที่ผู้บริโภคเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เอง ทำให้ความต้องการบริโภคในชุมชนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมการทานนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป จนมองกันเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยย้ำว่า ความเชื่อเรื่องสรรพคุณการรักษาโรคของเนื้อตัวเงินตัวทอง ยังไม่มีการทดสอบเพื่อพิสูจน์ชัด จนถึงวันที่ตีพิมพ์บทความวิชาการนี้ ดังนั้น จึงยังต้องวิจัยเพื่อตรวจสอบว่า การบริโภคเนื้อตัวเงินตัวทอง หรือผลิตภัณฑ์จากพวกมัน มีสรรพคุณการรักษาโรคผิวหนังดังที่หลายคนในชุมชนอินโดนีเซียเชื่อ จริงหรือไม่

เหี้ยมีประโยชน์ แต่ยังติดข้อกฎหมายไทย

ที่ผ่านมา นักวิจัยทางการเกษตรและทางการแพทย์ไทย พยายามศึกษาหาวิธีใช้ประโยชน์จากสัตว์เลื้อยคลานประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่า มีข้อจำกัดหลายส่วนด้วยกัน รวมทั้งตราบาปที่สังคมให้กับตัวเงินตัวทอง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเคยแถลงถึงความพยายามในการศึกษาวิจัยคุณสมบัติทางยาจากเลือดของตัวเงินตัวทอง ต้องการศึกษาว่าในเลือดของสัตว์เลื้อยคลานนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งโรคโควิด-19 หรือไม่

การศึกษาเรื่องนี้ภายใต้การนำของ รศ. ดร. นสพ. จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งสมมุติฐานว่า เพราะเหตุใดตัวเงินตัวทองถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต และแม้ในน้ำเน่าเสียได้ และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของพวกมันขึ้น

กฎหมายไทยห้ามบริโภคตัวเงินตัวทอง

Getty Images
กฎหมายไทยห้ามบริโภคตัวเงินตัวทอง

แต่เนื่องจากกลุ่มสัตว์เลื้อยคลายประเภทนี้จัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้ต้องขออนุญาตกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดจากตัวเงินตัวทองที่มีลักษณะสมบูรณ์มาศึกษาทางโปรตีนในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เลือดตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว