ผีน้อย : 7 ปี คนงานไทยในเกาหลีใต้เสียชีวิต 695 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย 86%

ข้อมูลจากสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ที่บีบีซีไทยร้องขอ พบว่าตั้งแต่ปี 2559 แรงงานลักลอบเข้าผิดกฎหมายผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” เสียชีวิตหลายร้อยรายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่าหรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย พบสาเหตุเสียชีวิตไม่ชัดเจนมากเท่ากับการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

ข่าวการเสียชีวิตของบุญชู ประวะเสนัง แรงงานไทยอายุ 67 ปี ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มาเป็นเวลานับสิบปี เสียชีวิตโดยพบร่างบนเนินเขาหลังฟาร์มหมู ซึ่งนายจ้างถูกกล่าวหาว่าอำพรางศพ สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยที่ได้รับข่าวสาร

ตำรวจเกาหลีใต้เปิดเผยหลังชันสูตรศพว่า “ไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรม สันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ และหัวใจผิดปกติ”

แต่บุญชูไม่ใช่แรงงานไทยเพียงคนเดียวจบชีวิตชีวิตในเกาหลีใต้ ที่อาจมีสาเหตุจากเรื่องปัญหาสุขภาพ

จากสถิติการเสียชีวิตของคนไทยในเกาหลีใต้ ระหว่างปี 2559 ถึงเดือน ก.ย. 2565 ที่บีบีซีไทยได้รับจาก ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พบว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิตจำนวน 695 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นสุดปี 2563 ถึง 240 คน หรือราว 34%

จากจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตเกือบ 700 คน เป็นการเสียชีวิตด้วยสาเหตุไม่ชัดเจน 264 คน หรือคิดเป็นกว่า 37% ของการเสียชีวิตทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นเป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 270 คน อุบัติเหตุ 81 คน และสาเหตุอื่น ๆ

ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่ากว่า 86% หรือ 602 คน

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ระบุกับบีบีซีไทยว่า ตัวเลขคนไทยที่เสียชีวิตในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กรณีที่เสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ ส่วนมากเป็นการพบศพคนไทยเสียชีวิตภายในห้องพักโดยการใหลตายและหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจมาจากการทำงานหนักและพักผ่อนน้อย

“ตามปกติทางการเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ที่จะรับทราบในภายหลัง”ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ระบุข้อมูลกับบีบีซีไทยเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ช่วงปลายปี 2563 มูลนิธิทอมป์สัน รอยเตอร์ รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตของรายงานไทยในช่วง 5 ปี อยู่ที่กว่า 500 ราย ในครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้านถิ่นขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) บอกกับทอมป์สัน รอยเตอร์ว่า ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวน่ากังวลและต้องได้รับการสอบสวน

หลังจากเกิดกรณีของบุญชู นิลิม บารัวห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวกับบีบีซีไทยว่า “มาตรฐานของแรงงานระหว่างประเทศ กำหนดว่าแรงงานข้ามชาติทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสถานะไหน มีเอกสารถูกกฎหมายหรือไม่ สิทธิแรงงานของพวกเขาควรได้รับความเคารพ สุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานทุกมีความสำคัญที่ต้องแน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับ”

ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO ระบุด้วยว่า เพื่อป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมดังเช่นกรณีของบุญชู ทั้งสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัย ควรได้รับการตรวจสอบ และต้องไม่เป็นการตรวจสอบเพื่อจับกุมกรณีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

“การตรวจสอบสถานที่ทำงานและความปลอดภัย ไม่ควรถูกรายงานหรือเชื่อมโยงกับการควบคุมการเข้าเมือง และมาตรฐานของที่พักแรงงานต้องได้รับการปรับปรุง” ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO ระบุ

ความเป็นอยู่ของ “ผีน้อย” มีหลายรูปแบบ

รายได้ที่สูงกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว ยังคงดึงดูดให้คนไทย พาตัวเองไปเสี่ยงลักลอบเข้าไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ภาพชีวิตประจำวันของผีน้อยที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัยที่ดูเหมือนว่าพออยู่ได้ แต่แรงงานไทยหลายคนที่บีบีซีไทยได้คุย ต่างบอกว่า แล้วแต่ว่าพวกเขาจะได้ “เถ้าแก่” หรือนายจ้างที่ดีหรือไม่ดีเท่านั้น

สภาพความเป็นอยู่ของ บุญชู ที่มีหน้าที่ดูแลสุกรราว 100 ตัว กินนอนอยู่ในฟาร์ม ที่ตำรวจชี้ว่า สภาพความเป็นอยู่ของบุญชู “แย่ยิ่งกว่าหมูในเล้า” ห้องพักเต็มไปด้วยขวดน้ำ ถุงขยะ ผ้าห่มที่ไม่ได้ซักมานาน และเสื้อผ้ากระจัดกระจาย คงจะไม่ใช่ภาพที่หลายคนนำมาลงบนโซเชียลให้เห็น

จากประสบการณ์ของ สมเกียรติ (ขอสงวนนามสกุล) คนไทยที่เป็นสื่อกลางช่วยเหลือแรงงานผีน้อยในเกาหลีมา 5 ปี บอกบีบีซีไทยว่า เขาเห็นเรื่องราวแบบนี้มาหลายกรณี

Getty Images

Getty Images

สมเกียรติ เล่าถึงแรงงานไทยสูงอายุรายหนึ่งที่เขาเคยช่วยเหลือเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า เป็น “ลุง” ที่นอนป่วยในตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นที่พักของคนไทยกว่า 10 คน เขาบอกว่า แรงงานรายอื่นช่วยเหลือได้แค่การให้ข้าวให้น้ำ เพราะการไปโรงพยาบาลต้องใช้เงินและกลัวถูกจับกุม

ต่อมาจนกระทั่งอาการหนักขึ้น เขาได้รับการติดต่อให้ประสานความช่วยเหลือนำตัวไปโรงพยาบาล เมื่อไปรักษาก็ต้องต่อรองค่ารักษา แต่วันที่ส่งตัวไปโรงพยาบาลท้ายที่สุดในวันเดียวกัน ชายรายนี้ก็กลับมาเสียชีวิตที่ที่พัก

สมเกียรติ บอกว่า แรงงานผีน้อยทำงานหนัก ใช้ร่างกายจนกระทั่งสุขภาพร่างกายรับไม่ไหวในท้ายสุด

“ถ้าเจ็บนิด ๆ หน่อย ๆ จะไม่กล้าไป ถ้าไปโรงพยาบาล เพราะก็กลัว ตม. จับ ทำงานจนร่างกายเหมือนกับรถที่สตาร์ทไม่ติดแล้วลมลง กว่าจะไปรักษาคือโคม่าแล้ว” สมเกียรติ กล่าวกับบีบีซีไทย

“ชีวิตคนไทยในเกาหลี หมาที่ผูกไว้หน้าบ้านยัง มีค่ากว่าชีวิตคนไทย” เขาเปรียบเปรย พร้อมบอกว่า ภาพที่เห็นในซีรีส์ ความสวยงามของทิวทัศน์ของเกาหลี เป็นคนละเรื่องกับชีวิตแรงงานไทยที่นั่น

ยามเจ็บป่วย และปัญหากับนายจ้าง

วราภรณ์ ธรรมภาณพิสุทธิ ล่ามชาวไทยประจำมูลนิธิวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย กวางจูใต้ ซึ่งให้ช่วยเหลือคนไทยในเกาหลีใต้ เล่าให้บีบีซีไทยว่า แม้ในเวลาเจ็บป่วย แรงงานผีน้อยอาจจะได้โรงพยาบาลได้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่มีการคุ้มครองเรื่องประกันสุขภาพ

วราภรณ์ เห็นว่ารูปแบบการทำงานและงานที่หนักเกินไป เช่น การทำงานล่วงเวลา คนไทยต้องการเงินจำนวนมากขึ้นจึงจำเป็นต้องทำงานเกินเวลา ทำให้มีผลต่อความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ

บีบีซีไทยได้ข้อมูลมาว่า เมื่อเจ็บป่วยถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลของบางรายที่ล้มป่วยด้วยโรครุนแรงอย่างหลอดเลือดในสมอง อาจจะสูงถึงหลักสิบถึง 300 ล้านวอน (2.6 แสน ถึง 7.9 ล้านบาท)

เจ้าหน้าที่ล่ามชาวไทยประจำมูลนิธิวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย กวางจูใต้ บอกด้วยว่า ปัญหาระหว่างนายจ้างเกาหลีและผีน้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการฟ้องร้องเงินแทจิกกึมหรือการคุ่มครองเรื่องอุบัติเหตุจากการทำงานที่นายจ้างค้างจ่าย

ปัจจุบันมูลนิธิที่วราภรณ์ ทำงาน รับดำเนินเรื่องให้กับคนไทย เวียดนาม กัมพูชา ในปีหนึ่งจำนวนหลายร้อยกรณี เธอบอกว่าในภาพรวม ผีน้อยส่วนใหญ่ไม่ทราบกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่ามีส่วนรับสิทธิตรงนี้ คิดว่าเป็นผีน้อยหรือแรงงานผิดกฎหมายจะไม่ได้สิทธิ จึงถูกนายจ้างเอาเปรียบ

“คนไทยปรึกษากันเข้ามาเยอะ แต่ก็มีกรณีที่ทางพี่รับเรื่องไว้แล้วเรื่องถึงกรมแรงงานแล้วเถ้าแก่ขู่จะแจ้ง ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) ทางคนไทยพากันกลัวเลยยกเลิกการฟ้องไปก็มีเยอะ” วราภรณ์ กล่าว พร้อมบอกว่าทนายความพยายามอธิบายกับแรงงานเหล่านี้ว่า ไม่ต้องกลัว เพราะกรมแรงงานของเกาหลีจัดการให้ได้ และมองว่า การที่คนไทยไม่ได้ฟ้องร้องทางกฎหมาย ทำให้นายจ้างเกาหลีเอาเปรียบเรื่อยมา

Getty Images

Getty Images

เมื่อต้องส่งกลับไทย

สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ได้ดำเนินภารกิจคุ้มครองและดูแลคนไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ป่วยจนเสียชีวิต ได้แก่ การประสานงานตามหาคนไทยที่หายตัวไป เจรจาต่อรองค่ารักษาพยาบาลประสานงานเพื่อขอรับบริจาคให้กับแรงงานผิดกฎหมายที่ไม่มีค่ารักษาพยาบาล การให้กู้ยืมเงินค่ารักษาพยาบาลและประสานงานเพื่อส่งตัวคนไทยกลับไปรักษาที่ไทย

นอกจากนี้ยังช่วย ประสานงานขอรับบริจาคค่าดำเนินการจัดการศพคนไทย เผาศพ การประสานงานกับญาติคนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งศพหรืออัฐิคนไทยกลับประเทศไทย รวมทั้ง พยายามเชิญชวนให้คนไทยที่พำนักผิดกฎหมายในเกาหลีใต้รายงานตัวกับทาง ตม. เกาหลีใต้ เพื่อเดินทางกลับไทยโดยสมัครใจ

สมเกียรติ ซึ่งเป็นบุคคลที่คนไทยเดือดร้อนมักจะขอให้ช่วยเหลือแจ้งข่าว บอกว่า เงินค่าทำศพ ค่าฌาปนกิจ และเงินค่าส่งอัฐิกลับประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นราว ๆ 3 ล้านวอน หรือราว ๆ 1 แสนบาท

“บางคนเวลาตาย เงินค่าทำศพ ค่าเผาก็ไม่มี” สมเกียรติเล่า ส่วนการส่งตัวกลับไปรักษาที่ประเทศไทย ก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าโรงพยาบาล และค่าบัตรโดยสารกลับไทยด้วย บางรายเงินบริจาคเพียงพอ บางรายต้องกู้ยืมเงินจากสถานทูตหลายแสนบาท

ปัจจุบันมีคนไทยที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ราว 138,000 คน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงยุติธรรมของสาธารณรัฐเกาหลี ได้ดำเนินโครงการการเดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจแบบพิเศษ (Special Voluntary Departure Program)

โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ที่พำนักแบบผิดกฎหมายสามารถรายงานตัวกลับโดยสมัครใจ โดยจะได้รับการยกเว้นค่าปรับและระงับการห้ามเดินทางกลับเข้าเกาหลี ระยะเวลาตั้งแต่ เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ถึง 28 ก.พ. 2566 แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีคนไทยรายงานตัวกลับไทยเพียง 2,601 คน

ข้อจำกัดของการไปเกาหลีแบบถูกกฎหมาย

รีนา ต๊ะดี นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการย้ายถิ่นของแรงงานไทยไปเกาหลีใต้ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ออสเตรีย กล่าวว่า เหตุที่แรงงานไทยเดินทางลักลอบไปเป็นแรงงานนอกระบบจัดส่งผ่ายรัฐ (EPS) เพราะมีอุปสรรคทั้งจากฝั่งแรงงานเองที่ไม่สามารถรอเรียนภาษา สอบภาษา รอเรียกตัวได้ แม้จะสอบผ่านก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกเลือกไปทำงาน ด้วยเงื่อนไขการสุ่มรายชื่อแรงงานในอัตรา 1 ต่อ 5

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของแรงงานในระบบ EPS ยังมีเรื่องอายุที่ถูกจำกัดว่าต้องไม่เกิน 39 ปี รีนา ระบุว่าได้เจอหลายคนที่อยากไปกับ EPS แต่อายุเกิน ส่วนปัจจัยเรื่องเพศก็มีผล แรงงานผู้หญิงจะมีโอกาสถูกเรียกตัวน้อยกว่าแรงงานผู้ชาย เพราะลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานโรงงานและนายจ้างมักจะเลือกผู้ชายเพราะทำงานในอุตสาหกรรมหนักได้มากกว่า

“ทางฝั่งไทยเรามองว่าไม่มีอำนาจต่อรองเลย เพราะเกาหลีมีประเทศที่ลงนามในระบบ EPS อีกสิบกว่าประเทศ ถ้าไทยขอต่อรองให้เปลี่ยนเงื่อนไขต่าง ๆ เกาหลีอาจจะมองว่าเรื่องมาก งั้นตัดโควตาไปให้ประเทศอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้ หรือถ้าจะให้รัฐบาลแต่ละประเทศร่วมมือกันกดดันเกาหลี อันนี้ก็เป็นความเปราะบางทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีก” นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม. มหิดล ระบุ

ด้าน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเตือนให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี หากเจ็บป่วยในต่างประเทศค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และยังมีโอกาสถูกนายจ้างเอาเปรียบได้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว