
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสังคมออนไลน์กลับมาพูดถึง “การดื่มปัสสาวะ” เพื่อรักษาโรคอีกครั้ง โดยอ้างว่าสามารถบำบัดอาการป่วยของหลายโรคได้ พร้อมยังสามารถรักษาบาดแผลต่าง ๆ รวมไปจนถึงสามารถรักษาโรคมะเร็งได้
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
- กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 1 เตือนฝนตกหนักมาก-ท่วมฉับพลัน 26-29 ก.ย.นี้
- ส่องประวัติ ไทยน้ำทิพย์-หาดทิพย์ ผู้ขายโค้กในไทย ทำไมรายได้ต่างกัน
บีบีซีตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลอย่างน้อยสองแห่งที่น่าเชื่อถือ ประกอบด้วยเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยา และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบว่า ความเชื่อดังกล่าวเป็น “เรื่องไม่จริง”
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลจาก ศ. กิตติคุณ นพ.เกรียง ตั้งสง่า ต่อเรื่องดังกล่าวว่า สารต่าง ๆ ที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะเกือบทั้งหมด เป็นสารของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญของร่างกาย และร่างกายไม่ต้องการใช้ ถ้าคั่งค้างในร่างกายจะเกิดผลเสียได้
นอกจากนี้ การดื่มน้ำปัสสาวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ที่สำคัญคือ ทำให้มีการสะสมของเสีย (ซึ่งร่างกายต้องการขจัดทิ้งไปแล้ว) กลับเข้าไปหมุนเวียนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ในทางการแพทย์จึงไม่แนะนำให้ปฏิบัติ

เช่นเดียวกันกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 เกี่ยวกับ “ปัสสาวะบำบัด” (การรักษาหรือบำบัดโรคด้วยปัสสาวะ ทั้งด้วยวิธีการดื่มและทาตามร่างกาย) ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
“นอกจากจะไม่หายจากโรคเดิมแล้ว อาจทำให้อาการหนักมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อาจมีความเสี่ยงและอาการอื่น ๆ ตามมาเช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ, อาจได้รับสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย, ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ อาจอาการแย่ลงได้, และอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย” ระบุ
ส่วนประกอบในปัสสาวะมีอะไรบ้าง
จากข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงสาวนประกอบสำคัญที่พบในปัสสาวะ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ
- กลุ่มสารหรือของเสียที่ร่างกายกำจัดออกที่เกิดจากการสันดาปของร่างกาย ได้แก่ ยูเรีย จากการเผาผลาญโปรตีนและกรดอะมิโน กรดยูริค จากการสลายสารอาหารกลุ่มพิวรีน สารประกอบคีโตน จากการสลายไขมัน
- ยาหรืออนุพันธ์ของยาที่รับประทานเข้าไป
- เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนออกมา
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มปัสสาวะของตัวเองมีอะไรบ้าง
- ปัสสาวะมีความเป็นกรด (มีค่า pH ประมาณ 5 – 6.5) หากดื่มในขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารได้
- มีโอกาสได้รับสารอนุพันธ์ของตัวยา (ที่ร่างกายพยายามขจัดออกทางปัสสาวะ) กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เพิ่มความเสี่ยงของการสะสมยาในร่างกายมากเกินไป
- มีความเสี่ยงของเชื้อโรคที่อาจปะปนมากับปัสสาวะ หรือ เกิดจากการจัดเก็บปัสสาวะไม่ดี หรือ เก็บไว้เป็นระยะเวลานานเกินไป
- ประโยชน์อาจพบได้บ้างในปัสสาวะ คือ ฮอร์โมนบางประเภท เช่น ยูโรไคเนสที่มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดได้ แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว