“War for the Planet of the apes” ปิดฉาก “พิภพวานร” สมบูรณ์แบบ หนังดีมาก แต่ฉากบู๊อาจไม่หนำใจ

คอหนังที่คาดหวังอภิมหาสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ระเบิดภูเขา เผากระท่อม อาจผิดหวัง เพราะหนังจัดเต็มความพีคในแง่สงครามแตกหักระหว่างสองเผ่าพันธุ์ไปแล้วใน Dawn of the planet of the apes (ภาค2) แม้ในภาคนี้ จะพอมีซีนแอ็คชั่นกล้อมแกล้มบ้างในช่วงท้าย แต่หนังเต็มไปด้วยรอยแผลจากสงครามที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ก่อขึ้น จนนำมาสู่ภาพความโกรธแค้น การต่อสู้ กดขี่ ข่มเหง วิพากษ์ความเลือดเย็นที่ขยี้ และบีบคั้นทางอารมณ์แบบเอาตายในบทสรุปไตรภาคนี้

หนังเดินเรื่องเรียบๆ ไม่หวือหวา แต่มีจังหวะจะโคนที่แข็งแรง เต็มไปด้วยซีนสะเทือนอารมณ์ ความงดงาม การบีบคั้นที่ขับออกมาทางสีหน้า แววตาของตัวละคร และภาพที่สื่อสารออกมาโดยไม่ต้องบิ๊วอะไรมาก รวมถึงไดอะล็อก ที่สะท้อนเบื้องลึกในจิตใจของตัวละครได้ดี บวกกับซาวด์ดนตรีที่โดดเด่น เล่นกับอารมณ์ ส่งให้หนังมีบรรยากาศที่น่าตื่นกลัว หวาดระแวง อีกทั้งยังชื่นชมที่นำเสนอความแฟนตาซี ให้ออกมามีชีวิต เป็นสงครามที่มีความสมจริงเอามากๆ

ในภาคนี้ เราได้เห็นพัฒนาการของ “ซีซาร์” ที่เจอบททดสอบสำคัญ กับอารมณ์ความโกรธแค้นครอบงำจิตใจ โดยภาคนี้ หนังปลดล็อกอีกด้านของตัวละครออกมาให้คนดูได้เห็นมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้น ยิ่งหนังเคลื่อนไปข้างหน้า ภาพในหัวก็แฟลชแบ็คไปยังภาคแรกๆ ก็ยิ่งทึ่งกับการเดินทางของตัวละครนี้ ที่ยืนหยัดเชื่อมั่นในตัวมนุษย์ และมีเมตตาให้เสมอมา ก่อนจะถูกทำลายความเชื่อลงในที่สุด แม้หนังจะเล่าผ่านมุมมองของฝ่าย “วานร” แต่หนังพยายามให้น้ำหนักเหตุผลของฝ่ายมนุษย์ ว่าแท้จริงแล้วก็ถูกบีบให้เข้าสู่สงครามนี้โดยไม่ตั้งใจเช่นกัน แม้ในโลกของวานร มนุษย์จะแสนเลว แต่หากถอยมาหนึ่งก้าว ทุกฝ่ายล้วนหวาดระแวง และต้องดิ้นรนเอาตัวรอดแทบทั้งสิ้น

หนังยังคงเชิดชูฝ่ายวานร และขยี้ให้เห็นความป่าเถื่อนของมนุษย์ พยายามดีไซน์กลุ่มกองทัพทหารให้ดูเป็นฝูงสัตว์ร้ายที่บ้าคลั่ง ป่าเถื่อน ตะโกนโหวกแหวกและเลือดเย็นไม่แพ้สัตว์ พร้อมกับให้คนดูเห็นมุมที่โอบอ้อมอารีของสัตว์ สัญชาติญาณความเป็นพ่อแม่ หัวหน้าผู้ปกครอง และทำให้คนดูเอาใจช่วยฝ่ายวานรอีกครั้ง จนบางซีนแอบเกลียดมนุษย์ไปเลย ขณะที่บางซีนก็ชำแหละความสูงส่งของจิตใจทั้งสองฝ่ายแบบเห็นได้ชัดเจน ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า ไม่ได้มีฝ่ายไหนเลว หรือมีอุดมการณ์แบบสุดโต่ง จึงเป็นความก้ำกึ่ง ลิงก็เอาใจช่วย แต่มนุษย์ก็ไม่อยากให้สูญเสีย

ขณะที่ตัวละครเด็กสาว มีนัยยะให้ตีความหลายทาง ทั้งผลข้างเคียงในการเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็เป็น “แสงสว่าง” แห่งความอ่อนโยนที่บริสุทธิ์ในหนัง เป็นผ้าขาวที่ไม่แปดเปื้อน หรือความโหดร้ายจากการบ้าทำสงคราม และแสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างสองเผ่าพันธุ์

อีหนึ่งเสน่ห์ของหนังทั้งสามภาค แทบไม่ต้องพึ่งสตาร์ชื่อดัง แต่ตัวบท การเล่า คอนฟลิกซ์ต่างๆ การแสดง ทำให้หนังมีพลังในตัว CG วานร คืออีกความโดดเด่น ทุกตัวดูมีชีวิต แถมยังแสดงออกทางอารมณ์ ทุกอย่างส่งออกมาจนเชื่อว่านี่คือลิงจริงๆ Andy Serkis เล่นไกด์เป็นซีซาร์ได้เก่ง และส่งอารมณ์ออกมาเยอะมาก คนดูจะได้เห็นลิงถึง 7-80% แต่แทบไม่มีซีนไหนรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติเลย ส่วน Woody Harrelson ก็สวมบทผู้พันได้เลือดเย็น ทั้งแววตา และอารมณ์ แต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้าและผุพังภายในใจ

โดยรวมแม้ในแง่ความเป็นหนังสงคราม อาจไม่หนำใจในพาร์ทแอ็คชั่น ความสนุก และดูยืดยาดไปบ้าง แต่หนังก็ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบในการเป็นหนัง “ที่ดี” และปิดไตรภาค “พิภพนาวร” มันเต็มไปด้วยการบีบคั้นทางอารมณ์ กระอักกระอ่วน ยิ่งเมื่อนำมาประกอบเป็นภาพใหญ่กับสองภาคแรก นี่คือหนังไตรภาคที่สมบูรณ์แบบ และมีความโดดเด่น พัฒนาในทุกภาค แต่ War for the planet of the apes สามารถปิดฉากไตรภาคพิภพวาระได้อย่างงดงาม แม้ความเข้มข้นจะไม่เท่าภาคสอง และไม่กลมกล่อมเท่าภาคแรกก็ตาม

 

ภาพจาก Major Cineplex