ผลจากภาษีการลงทุน ในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินาถ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในที่สุด ฝัน (ร้าย) ก็ใกล้จะเป็นจริง นักลงทุนตราสารหนี้กำลังจะถูกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะลงทุนตราสารหนี้โดยตรง หรือลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งเดิมไม่ต้องเสียภาษี โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ให้มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และจะมีผลใช้บังคับภายใน 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้

หลักใหญ่ใจความของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่จะใช้ประกอบกัน สรุปได้ดังต่อไปนี้

1.กำหนดให้กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง) และส่วนลดจากการลงทุนในตราสารหนี้ 2.ผู้ออกตราสารหนี้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ทุกงวดการจ่ายดอกเบี้ย และนำส่งกรมสรรพากร โดยกองทุนรวมไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก 3.ใช้บังคับกับกองทุนรวมทุกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ (FIF) โดยจะยกเว้นให้สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 4.ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย (capital gain) และภาษีเงินได้จากเงินปันผล และ 5.ตราสารหนี้ที่กองทุนรวมถืออยู่ก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ จะได้รับยกเว้นภาษี

Advertisment

แล้วการจัดเก็บภาษีเงินได้จากคูปองที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมนี้จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไร

1.ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จะมีผลเสมือนว่าถูกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 15 จากรายได้ดอกเบี้ยตราสารหนี้ 2.เนื่องจากเป็นภาษีที่กองทุนรวมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จึงไม่สามารถทำการขอคืนภาษีได้ แม้ว่าฐานภาษีจะต่ำกว่าร้อยละ 15 ก็ตาม

3.การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะมีผลตอบแทนสุทธิต่ำลง จากการที่กองทุนถูกหักภาษีดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้ ทั้งนี้ รวมไปถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ด้วย หาก PVD นั้นลงทุนผ่านกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเว้นภาษีให้กองทุนรวมที่เสนอขายเฉพาะสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีการจัดตั้งต่อไป และ 4.เนื่องจากภาษีจะเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ดังนั้น หากกองทุนลงทุนในตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ยคูปองสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจริง (yield) ก็เท่ากับว่านักลงทุนถูกเก็บภาษีเกินกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจริง โดยตราสารหนี้ที่ว่านี้จะมีราคาซื้อขายสูงกว่าราคาพาร์ ซึ่งมักจะพบในพันธบัตรรัฐบาล

เมื่อการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนให้ผลตอบแทนสุทธิหลังหักภาษีต่ำลง นักลงทุนจึงอาจรู้สึกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมในตราสารหนี้มีความน่าสนใจน้อยลง เมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ที่อาจขอคืนภาษีได้ หรือเมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น จึงอาจทำให้พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนโน้มเอียงไปในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

Advertisment

ส่วนผลกระทบต่อลูกหนี้ หรือผู้ออกตราสารหนี้ ในแง่ของผู้ออกตราสารหนี้ที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ก็อาจเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุนที่ต้องการอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อชดเชยภาระภาษี ซึ่งผู้ออกรายใหญ่ก็คือภาครัฐ ที่รวมถึงกระทรวงการคลัง ธปท. และรัฐวิสาหกิจ มีสัดส่วนการออกรวมกันกว่า 70% ของมูลค่าการออกตราสารหนี้ทั้งหมด ส่วนภาคเอกชนมีสัดส่วนเพียง 30% ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกลุ่ม SET100 รองลงมากว่า 11% เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นี่อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ทั้งนักลงทุนและลูกหนี้ต้องปรับตัว รวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป จะมากน้อยแค่ไหน ในทิศทางใด เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะได้นำมาเสนอในวาระต่อไป