“สนธิรัตน์” ยกแม่แจ่ม ต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกของไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ฟังความเห็นชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสำรวจศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน มอบ กฟผ. เป็นแม่งานประสานชุมชนและลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการยอมรับของชุมชนเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้บริหาร กฟผ. นำโดยนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมายที่ชุมชนเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากซังข้าวโพด สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พน. เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดปีละ 90,000 ตัน สามารถ นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้มากเพียงพอที่จะดูแลพื้นที่ห่างไกลของอำเภอได้ ซึ่งปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด ได้ดำเนินการนำซังข้าวโพดมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าชุมชนได้ โดยมีพื้นที่เป้าหมายเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ ในการกำจัดของเสียทางการเกษตรแทนการเผาที่สร้างมลพิษให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับคนในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า สอดคล้องกับแนวคิด Energy for All ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ โดยโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่มจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกที่ชุมชนเป็นเจ้าของ

 

ทั้งนี้ มอบหมายให้ กฟผ. เดินหน้าลงพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้าแม่แจ่ม ประสานชุมชนเพื่อจัดทำสัญญาประชาคม ข้อตกลงในการจัดหาวัตถุดิบ และจัดทำแผนงานเสนอต่อกระทรวง โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก

“ซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดปีละ 90,000 ตัน สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2 – 3 เมกะวัตต์ เพียงพอ โดยให้สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด นำซังข้าวโพดมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน จึงเลือกโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร เป็น 2 แห่งแรก เพราะมีศักยภาพ ให้ กฟผ.เป็นผู้นำร่องแห่งนี้ก่อน และจะขยายไปอีก 30 จังหวัดเป้าหมาย หลังจากนี้จะมีการกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขให้ชุมชน เอกชน และรัฐ ร่วมกันลงทุน เบื้องต้นขอให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้ชุมชนก่อน คาดว่าประมาณ 20 ล้านบาท”

ด้านนายณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นโครงการที่คนในชุมชนแม่แจ่มอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้

หากสามารถนำซังข้าวโพดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งนี้มั่นใจว่า แม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่มีปริมาณซังข้าวโพด ลำต้น และเปลือกข้าวโพดปีละหลายหมื่นตัน ไม่นับรวมแกลบ ฟางข้าว และขยะจากครัวเรือนที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ จึงมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างประโยชน์ สร้างอาชีพให้ชุมชน