“เจริญ”รุกหนัก เร่งเกมค้าปลีก ส่งบิ๊กซีบุกAEC

“เจริญ” เร่งเกมยึดค้าปลีกอาเซียน ส่ง “บิ๊กซี” บุกมาเลย์ ต่อยอดธุรกิจ จ่อลงทุนเพิ่มสาขากัมพูชา-เวียดนาม-ลาว รุกตะเข็บชายแดนเชื่อมเครือข่ายร้านค้า 1.2 พันแห่ง

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัททีซีซี และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากกลุ่มธุรกิจในเครือของบีเจซี ได้เข้าไปทำธุรกิจโรงงานผลิตขวดแก้ว และมีโรงงานผลิตมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูปที่มาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2551ได้มองโอกาสถึงการนำธุรกิจอื่น ๆ ภายในเครือเข้าไปขยายเพิ่มเติมด้วย โดยขณะนี้กำลังศึกษาธุรกิจค้าปลีก ภายใต้การบริหารของบิ๊กซีเข้าไปเปิดที่มาเลเซียเป็นสเต็ปต่อไป

อย่างไรก็ตามการเข้าไปสร้างฐานธุรกิจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะจับมือคับคู่ค้าในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง เพื่อเข้าไปเปิดตลาดร่วมด้วย

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ระบุว่า แนวทางรุกตลาดต่างประเทศจะเน้นการมีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เนื่องจากมองว่าโมเดลดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในกรณีของมาเลเซีย มีความสนใจเพราะเครือของบีเจซีได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตขวดแก้วและขนมแล้ว แต่ยังไม่มีธุรกิจปลายน้ำ หรือการนำสินค้าไปสู่มือผู้บริโภค ซึ่งมีโอกาสจากตลาดอยู่จำนวนมาก จึงมีความสนใจที่จะนำบิ๊กซีเข้าไป

ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาการนำบิ๊กซีเข้าไปเปิดในประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา เพิ่มเติม โดยเวียดนามมีโมเดลของธุรกิจค้าส่ง เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต จำนวน 19 สาขา และร้านสะดวกซื้อ บีสมาร์ท จำนวน 170 สาขา ซึ่งตลาดยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกจำนวนมาก

ส่วนในลาว มีร้านสะดวกซื้อเอ็มพอยท์มาร์ท ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในเวียงจันท์อยู่ในขณะนี้ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้สูงอีกต่อเนื่องเช่นกัน ด้านกัมพูชาแม้จะมีคู่แข่งจำนวนมาก ทั้งค้าปลีกจากเมืองไทย ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่เชื่อว่าตลาดยังมีช่องว่างอยู่ จึงสนใจที่จะเข้าไปเปิดใน 3-4 เมือง เช่น พนมเปญ สีหนุวิลล์ ฯลฯ เป็นต้น

“ปัจจุบันในเครือของบีเจซีมีร้านค้าทั้งหมดกว่า 1,200 แห่งในอาเซียน ส่วนจะขยับขยายเป็นเท่าไหร่ จะมีสัดส่วนต่างประเทศเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นเป้าหมาย

สำหรับเราตอนนี้ เพราะเรามองความคุ้มค่าจากการลงทุนในหลาย ๆ ที่พร้อมกัน ถ้าที่ไหนลงทุนแล้วให้ผลตอบแทนได้คุ้มกว่าก็ไปเน้นตรงนั้นมากขึ้น”

ส่วนในประเทศ บริษัทมีแผนขยายสาขาและสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยเป้าหมายระยะยาวในการขนส่งสินค้าระหว่างสาขาภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มสาขาบริเวณชายแดนเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับสาขาในแต่ละประเทศต่อไป โดยการลงทุนต่อสาขาจะอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาท พื้นที่ 3,000-4,000 ตร.ม.และล่าสุด บริษัทได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีในประเทศ ผ่านโครงการ “Big C Big Success ธุรกิจไทย โตไปด้วยกัน” มีแผนเดินสายประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ พร้อมชูสิทธิพิเศษ เช่น ยกเว้นค่าแรกเข้าในบิ๊กซี การให้คำแนะนำทางธุรกิจ และโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงการเป็นคู่ค้ากับบิ๊กซีในการไปในภูมิภาค ร่วมกับกระทรวงพานิชย์ โดยคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมประมาณ 500 ราย คิดเป็น 10% ของคู่ค้าเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 5,000 ราย