CKP ผู้ส่งออกไฟฟ้ารายใหญ่ของลาว

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ชลิต กิติญาณทรัพย์

“ขึ้นอยู่ที่ราคารับซื้อ (ไฟฟ้า) ถ้า (กฟผ.) ซื้อตามราคาปัจจุบันคิดว่าไม่คุ้มกับการลงทุน” ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) CKP พูดถึงไดเร็กชั่นของ CKP จะลงทุนสร้างเขื่อนขนาดกลางในประเทศลาวหรือไม่ เมื่อครั้งพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น (run of river hydropower plant) แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว (ติดกับจังหวัดอุตรดิตถ์ น่าน และเลย) ห่างจากหลวงพระบาง 80 กิโลเมตร เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

CKP เข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว แห่งแรก คือ เขื่อนน้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าแห่งที่สอง คือ ไซยะบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของลาว

“ฝายน้ำล้นไซยะบุรีเป็นโครงการแรกของแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าง่ายที่สุด น้ำไหลมาเท่าไหร่จะผ่านออกไปเท่านั้น หลักการสำคัญ คือ เก็บน้ำหน้าฝนผลิตไฟฟ้าหน้าแล้ง” คุณอานุภาพ วงศ์ละคร นายช่างใหญ่ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี กล่าวและอธิบายต่อว่า ฝายน้ำล้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องมีเขื่อนเก็บน้ำประกอบด้วย

แม่น้ำโขงแบ่งเป็น 2 ช่วง ตอนบนอยู่ภายในประเทศจีน มีเขื่อนเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ เขื่อนนอจาตู้ และเขื่อนเสียวหวาง และมีฝายน้ำล้น run of river 5 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ 15,000 เมกะวัตต์ ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งครอบคลุมพม่า ลาว ไทย เขมรและเวียดนาม ตามแผนจะมี run of river 11 แห่ง ประกอบด้วย ปากแบ่ง (ชื่อเขตหรือแขวง) หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย สานาคาม ลาดเสือ ดอนสะหง ทั้งหมดอยู่ในดินแดนลาว ส่วนปากชม บ้านกุ่ม อยู่ระหว่างชายแดนไทย-ลาว ขณะที่สะตึงเตร็ง กับซัมบอร์ อยู่ในประเทศกัมพูชา

ฝายน้ำล้นไซยะบุรีถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ วางตัวขวางลำน้ำโขง ความยาวข้ามลำน้ำ 820 เมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.35 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในลาว มี CKP ถือหุ้น 30% บริษัท นทีซินเนอร์ยี่ จำกัด 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20% บริษัทผลิตไฟฟ้า 12.50% บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ 7.50% บริษัทพีที 5%

ลักษณะของฝายน้ำล้นแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ทางเรือผ่าน กว้าง 12 เมตร ยาว 700 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งขนาด 500 ตันได้สบาย ส่วนที่ 2 ทางระบายน้ำ (spillway) เป็นองค์ประกอบสำคัญช่วยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านโครงการให้เท่ากับปริมาณน้ำตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศท้ายน้ำ มีประตูระบายน้ำ 11 บาน เป็นทางระบายน้ำล้น 7 บาน และทางระบายน้ำระดับล่าง (ติดพื้นดินใต้น้ำ) อีก 4 บาน

“เราเชื่อว่า ตะกอนปุ๋ยและอาหารปลาซึ่งเบาจะไหลตามสายน้ำไม่มีตกค้างอย่างแน่นอน” คุณอานุภาพพูดด้วยความเชื่อมั่น

ส่วนที่ 3 คือ โรงไฟฟ้า Power House น้ำจะไหลเข้าโรงไฟฟ้าไปหมุนกังหันน้ำด้วยแรงดันน้ำตามธรรมชาติที่เกิดจากความต่างของระดับน้ำ พลังงานจากการหมุนจะเชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดแกนตั้งรวม 8 ชุด ผลิตไฟฟ้าป้อนไทย 7 ชุด อีก 1 ชุดขนาดย่อมกว่าหน่อยป้อนให้ สปป.ลาว

intermediate block เป็นส่วนกั้นระหว่างส่วนโรงไฟฟ้ากับทางระบายน้ำ ถูกวางตัวกลางแม่น้ำเสมือนเกาะขนาดใหญ่

ส่วนที่ 4 ทางปลาผ่าน เจ้าของโครงการให้ความสำคัญอย่างมาก ใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อให้ปลาสามารถใช้บริการได้จริง โดยอาศัยหลัก “ปลาอพยพว่ายทวนน้ำ” พร้อมด้วยกลยุทธ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลอกล่อปลาหลากหลายวิธี อีกทั้งยังมีระบบโซนาร์ตรวจสอบติดตามผลด้วย

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะส่งเข้าไทยผ่านสายส่งขนาด 500 KV ระยะทาง 200 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับสายส่งไทย ที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย

ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชากรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 15 หมู่บ้าน จำนวน 2,974 คน เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ทำให้เครดิตของ CKP ในสายตาของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลลาวสูงมาก อันเนื่องจากสร้างผลงานได้ตามเป้าหมาย คือ ทำให้ชาวลาวเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น รวมทั้งหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน

คุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ช.การช่าง บริษัทแม่ของ CKP พูดด้วยความมั่นใจว่า “โรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะเสร็จก่อนกำหนด แล้วสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนให้ไทยได้ช่วงต้นปี 2562” หากเป็นไปตามแผนดังกล่าว คุณปลิวจะมีเงินก้อนโตเข้ากระเป๋าก่อนกำหนด เฉกเช่นเดียวกับสมัยสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 เสร็จก่อนเวลา แล้วฟ้าประทานดีเปรสชั่นมาให้หลายลูกจนน้ำเต็มเขื่อน ต้องรีบปั่นกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ได้เงินมาประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่กรุงเทพฯเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่

เสร็จจากไซยะบุรี ก้าวต่อไปของ CKP คือ ซื้อโครงการฝายน้ำล้น run of river หลวงพระบาง กำลังการผลิต 1,410 เมกะวัตต์ จากภาคเอกชนเวียดนาม โครงการนี้รัฐบาลลาวมอบให้บริษัทเอกชนเวียดนาม แต่เวียดนามติดปัญหา “คนรับซื้อไฟฟ้า” เพราะเมืองไทยคือลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อกระแสไฟฟ้า หากเวียดนามจะสร้างสายส่งไปเวียดนามจะขาดทุนป่นปี้ ฉะนั้นเวียดนามจำเป็นต้อง “ขายโครงการ” โดยมีรัฐบาลลาวเป็นคนกลางช่วยประสาน ขณะที่ CKP ไม่รีบร้อน ใช้กลยุทธ์ “เวลา” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและจังหวะที่เหมาะสมที่สุดของ CKP คือ เจรจาซื้อขายสำเร็จ พร้อมงานก่อสร้างไซยะบุรีเสร็จสิ้น

อนาคตข้างหน้า CKP คือ ผู้ส่งออกกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของลาว