7 วันอันตราย เสียชีวิตลดลง

เดินทาง
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้รายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย หรือระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2567 ปรากฏเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 2,288 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,307 คน เสียชีวิต 284 ราย โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจาก การขับรถเร็ว คิดเป็นร้อยละ 38.90 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.6 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 17.06 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุเป็น รถมอเตอร์ไซค์ ถึงร้อยละ 86.31 รองลงมาได้แก่ รถยนต์ปิกอัพ ร้อยละ 6.42 และรถยนต์ ร้อยละ 3.28

ส่วนประเภทของถนนที่เกิดอุบัติเหตุ อันดับ 1 ได้แก่ ถนนทางหลวง ร้อยละ 40.52, ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.04 และถนนเทศบาล ร้อยละ 11.71 ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุ 18.01-19.00 น. คิดเป็นร้อยละ 7.27 เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 6.59 และช่วงเวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 6.15% โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุ-บาดเจ็บสูงสุดคือจังหวัดกาญจนบุรี 82 ครั้ง บาดเจ็บ 89 คน ส่วนกรุงเทพฯทำสถิติมีผู้เสียชีวิตสูงสุด 19 ราย

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสถิติ 7 วันอันตรายในช่วงเดียวกันกับปี 2566 จะพบว่า เทศกาลปีใหม่ปีนี้การเกิดอุบัติเหตุลดลง 152 ครั้ง ผู้บาดเจ็บลดลง 130 คน และมีผู้เสียชีวิตลดลง 33 ราย ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอันดับหนึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการดื่มแล้วขับเหมือนปีที่ผ่านมา แต่เป็นเหตุมาจากการขับรถเร็ว รองลงมาเป็นดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิดก็ตาม

แต่ก็ถือว่าโดยภาพรวม การเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิต ลดลงจากปี 2566 จากที่ก่อนหน้านั้นมีความกังวลกันว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเรื่องของโควิด-19 หมดและมีการขยายเวลาการเปิดสถานบริการบันเทิงได้ถึงตี 4

ด้านกระทรวงมหาดไทย เจ้าของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เชื่อว่า การเกิดอุบัติเหตุที่ลดลงเป็นผลมาจากการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการ “ป้องปราม” พฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนน การได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้ถนน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่เหนือสิ่งอื่นใด

การที่อุบัติเหตุลดลงจะมาจากความมีสติ รู้ตัวเอง ปฏิบัติตามกฎจราจร และไม่ประมาทในการขับขี่ยานพาหนะ แม้การลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 100,000 คนในปี 2570 ยังไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น

แต่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค อาสาสมัคร ออกรณรงค์ตั้งด่าน ดูแล บังคับใช้กฎหมาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง และจำเป็นต้องถอดบทเรียนพฤติกรรมการใช้รถ ใช้ถนนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการขับรถเร็ว เพื่อใช้ในการรณรงค์รับมือสำหรับเทศกาลหยุดยาวตลอดปี 2567