หวัง “ท่องเที่ยว” ตัวช่วยปั่นตัวเลข GDP

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ในที่สุดทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยอมรับว่า ภาคสินค้าเกษตรของไทยราคาตกต่ำ รายได้เกษตรกรทั่วประเทศหดตัวลง และส่งผลกระทบถึงกำลังซื้อรากหญ้าในต่างจังหวัด

ขณะที่รายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สคก.) เมื่อเดือนที่ผ่านมาระบุว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนปีก่อนถึง 6.21%

ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลชุดนี้หันมาหาตัวช่วยใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าของประเทศ พร้อมกับต่อลมหายใจของคนในต่างจังหวัด

Advertisment

โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวโดยภาพรวมสร้างรายได้ 2.51 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทย คิดเป็น 17.7% ของ GDP ประเทศ

และปีนี้ “ท่องเที่ยว” ก็ยังเป็นภาคธุรกิจที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเซ็กเตอร์สำคัญที่ถูกจับตามอง และเป็นธุรกิจที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ได้หยิบยกมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในขณะนี้

จึงเป็นที่มาของการเข้าไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานที่ ททท. ของคณะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“กลินท์ สารสิน” ประธานบอร์ด ททท. เล่าว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลหวังให้ภาคการท่องเที่ยวมาช่วยรายได้จากภาคการเกษตร เพราะมองว่าตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ จึงต้องการให้ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อเร่งกระจายเม็ดเงินถึงท้องถิ่นมากที่สุด และไม่ใช่ไปถึงแค่จังหวัดใหญ่ ๆ แต่อยากให้ไปถึงจังหวัดรอง และจังหวัดเล็ก ๆ ด้วย โดยจะมีมาตรการหรือสิทธิประโยชน์ (อินเซ็นทีฟ) ที่ทางกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนเป็นตัวดึงดูด

Advertisment

โจทย์สำคัญของรัฐบาลคือ จะวางเส้นทางท่องเที่ยวอย่างไรที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งให้สอดรับกันทั้งทางบก ระบบราง และทางอากาศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกขึ้น

และไม่เพียงแค่ ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวฯเท่านั้น ยังสั่งให้ ททท.เป็นตัวกลางประสานกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นเจ้าภาพในการคิดรวบยอดว่าจะทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการวางเส้นทางท่องเที่ยว, ประเด็นที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ฯลฯ

เรียกว่าทำอย่างไรก็ได้ที่คิดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้จ่ายเงินในชุมชน และทำให้เกิดเงินเข้าไปหมุนเวียนในชุมชน คนต่างจังหวัดมีรายได้เข้ามาทดแทนการขายสินค้าเกษตรได้บ้าง

โดยในประเด็นนี้ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวรายเดิมเล่าว่า ที่ผ่านมา ททท.ได้มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางการส่งเสริมตลาดนั้นจะยังคงให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มศักยภาพ โดยแบ่งเป็นเซ็กเมนต์อย่างชัดเจน ผ่านโครงการต่าง ๆ

อาทิ โครงการท้าเที่ยวข้ามภาค ตอกย้ำแนวคิด การท่องเที่ยวคือการค้นพบตัวเอง ในกลุ่ม Gen Y โครงการเก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวไทย ที่ให้สิทธิพิเศษในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัย

โครงการ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด Plus เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น โครงการวันธรรมดาน่าเที่ยว ซึ่งก็ได้ขยายผลโดยร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพื่อทำการส่งเสริมการขาย เป็นต้น

รวมถึงโครงการอื่น ๆ อีกมากมายที่ ททท.พยายามขยายความร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชน ตามนโยบาย “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

ขณะเดียวกัน ททท.ยังมีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ลงลึกไปในระดับภาค และระดับจังหวัด อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมี อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษที่ดูแลการท่องเที่ยวระดับชุมชนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นการทำงานที่ตอบโจทย์เรื่องของการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง และเมืองขนาดเล็ก รวมถึงความพยายามในการสร้างความสมดุลของนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ และในแต่ละเวลาทั้งสิ้น

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หลายฝ่ายจึงสรุปกันว่า งานนี้รัฐบาลเพียงแค่มองหาตัวช่วยใหม่มาช่วยปั่นตัวเลข DGP ของประเทศเท่านั้นเอง