นักท่องเที่ยวต่างชาติ (เริ่ม) รู้จัก…เมืองรอง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฎฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ผ่านไปครึ่งปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแรงต่อเนื่อง ทั้งในด้านของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว

จากข้อมูลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท.ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2561 เท่ากับ 94 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้น บวกกับความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงและราคาน้ำมัน

จากข้อมูลดังกล่าวยังเชื่อมั่นว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งในไตรมาส 3/2561 นี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น บวกกับการประชาสัมพันธ์ การเข้าถึงแหล่งข้อมูล ที่สำคัญนักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้นด้วย

พร้อมยังคาดการณ์ด้วยว่า ตลอดทั้งปี 2561 นี้ ประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.09 ล้านล้านบาท (จากเป้าเดิม 2 ล้านล้านบาท) และมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 39.47 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจและน่ายินดีอย่างมากคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มรู้จัก “เมืองรอง” ของไทยมากขึ้น ตามแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการกระจายรายได้สู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

จากการวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ของ “ไมนด์ทรี” ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์ ได้ประมวลผลดัชนีความพึงพอใจสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา พบว่า เมืองรองที่นักท่องเที่ยวรู้จักส่วนใหญ่คือ เชียงราย

และเชียงรายก็เป็นเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีทัศนคติเป็นบวกมากที่สุดถึงร้อยละ 66 ซึ่งหากเทียบกับเมืองหลักอย่างกระบี่และภูเก็ต พบว่าเป็น 2 เมืองหลักที่นักท่องเที่ยวมีทัศนคติเป็นบวกในอัตราร้อยละ 48 และ 46 ตามลำดับ

และนอกจาก “เชียงราย” แล้ว เมืองรองที่นักท่องเที่ยวรู้จักและพูดถึงยังมีอีกหลายเมือง อาทิ ชัยนาท ลำปาง พัทลุง เป็นต้น

โดยที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมีการกล่าวถึงที่พักแรมในจังหวัดชัยนาท หรือการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น วัดร่องเสือเต้น (Blue Temple) ในจังหวัดเชียงราย นอกเหนือไปจากวัดร่องขุ่น (White Temple) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเริ่มประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้น

นั่นหมายความว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะเร่งส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการทำคอนเทนต์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่เป็นตัวหนังสือ และภาพวิดีโอ ฯลฯ

เรียกว่า เป็นความสำเร็จของการสื่อสารการตลาดที่ได้รับผลตอบรับเร็วเกินคาดทีเดียว

ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท. ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถกระจายนักท่องเที่ยวลงไปสู่พื้นที่ใน 55 จังหวัดเมืองรองได้ถึงราว 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ยังคงเดินหน้าสื่อสารการตลาดถึงทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายลงสู่ท้องถิ่นที่ชัดเจนและทั่วถึงยิ่งขึ้น

ขณะที่ “อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า อุปสรรคหนึ่งของการท่องเที่ยว

เมืองรองสำหรับนักท่องเที่ยวคนไทยคือ มาตรการจูงใจด้านการลดหย่อนภาษียังช่วยกระตุ้นได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ประกอบการในเมืองรอง หรือในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมในเรื่องของการออกเอกสารใบกำกับภาษีให้กับนักท่องเที่ยวคนไทยมากนัก

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจะออกมาตรการใหม่ ๆ ที่ดึงดูดและสามารถกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง…