ไทยเจ้าภาพประชุมอาเซียนปี”62 ลดภาษี ต้องลด NTMs ด้วย

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาคิ

โดย กษมา ประชาชาติ

เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมอาเซียนประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจากสิงคโปร์ที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้

ในการประชุมอาเซียนในแต่ละปีนั้น ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะต้องเตรียมความพร้อมรับการประชุมสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง ทั้งการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) 2 ครั้ง การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) 2 ครั้ง การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) 3 ครั้ง ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้บรรลุผลตามแผนงาน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025)

ในรายสาขาและการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในแต่ละครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) เท่านั้น แต่ “ประเทศเจ้าภาพ” สามารถผลักดันวาระสำคัญ หรือแนวคิดการประชุม (theme) ที่จะเสนอให้อาเซียนร่วมกันผลักดันให้ประสบความสำเร็จด้วย

โดยในส่วนของไทยขณะนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งมี นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

และเอกชน 33 หน่วยงาน เพื่อกำหนด theme ที่ไทยต้องการผลักดัน ให้เกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562

ขณะนี้คณะทำงานได้ประชุมกันไปบ้างแล้ว และเตรียมเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมในอาเซียน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่ตอบโจทย์แนวโน้มของโลก ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งนอกจากการเสนอวาระที่เป็นความก้าวหน้าที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือ ไทยควรชักจูงให้อาเซียนหันมาทบทวนตัวเองถึงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาด ฐานการผลิตเดียวกัน ว่าแท้จริงแล้วทำได้อย่างที่วางไว้หรือไม่

เพราะแม้ว่าหลังจากการเปิดตลาดได้มีการทลายกำแพงลดภาษีนำเข้าภายในอาเซียนเป็น 0% ไปเมื่อปี 2558 ส่งผลทำให้ยอดการค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น

อย่างมาก จนอาเซียนกลายเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย แต่ทว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนกลับออกมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs : Non-Tariff Measures) เพิ่มขึ้นสวนทางกัน

เห็นได้ชัดเจนจากกรณีล่าสุดเวียดนามออกกฎหมาย Decree 116 มาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นมาตรการที่กีดกันรถนำเข้า เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ โดยบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่จะส่งเข้าประเทศเวียดนามต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการของเวียดนามทุกรุ่นทุกแบบ ทั้งที่เวียดนามมีห้องปฏิบัติการเพียงแห่งเดียว และเวียดนามก็ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกที่มีมาตรฐานก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ แต่กลับออกมาตรการลักษณะนี้สร้างอุปสรรคทางการค้า ส่งผลให้แม้ว่าอาเซียนจะลดภาษีนำเข้าจาก 30% เป็น 0% เมื่อปี 2558 แต่มี NTMs ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ และยังต้องเสียภาษีสรรพสามิต 35% และ VAT 10% ย่อมเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันได้

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีอินโดนีเซียออกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าพืชสวนปี 2561 จำนวน 28 รายการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกลำไยของไทย เพราะในปี 2560 ไทยส่งออกลำไยสดไปอินโดนีเซียเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนามและจีน

เมื่อการนำเข้าทะลักนำไปสู่การแลกหมัดทางการค้า โดยไทยจำกัดการนำเข้า”มะพร้าว” จากอินโดนีเซียที่มีน้ำหนักสมน้ำสมเนื้อกัน เป็นเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค. 2561 กรณีนี้ปิดท้ายด้วยอินโดนีเซียยอมผ่อนปรนมาตรการแต่ก็เป็นที่น่าเสียใจ เพราะกว่าจะดำเนินการส่งออกได้จริงก็ไม่ทันฤดูกาลผลิตลำไยปีนี้ไปแล้ว

ผลการตอบโต้กันไปมาไม่สร้างประโยชน์ให้อาเซียนเลย และผู้ที่เดือดร้อนที่สุด คือ ผู้บริโภคซึ่งหมดโอกาสที่จะได้เลือกสินค้าที่มีความหลากหลาย ผู้ผลิตขาดวัตถุดิบ และอาเซียนอ่อนแอ ทั้งที่เจตนารมณ์ที่แท้จริงในการรวมประชาคมอาเซียน คือ การสร้างความแข็งแกร่งไม่ใช่การทิ่มแทงกันเอง ดังนั้น ประเด็นนี้ควรเป็นหนึ่งโจทย์ในการประชุมอาเซียนปี 2562 นี้ด้วย