ASF-African Swine เรื่องใหญ่ของหมูไทย

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในช่วงนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงปศุสตว์ของประเทศกำลังวิตกกังวลกันมากถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือ African Swine Fever-ASF เดิมทีดูเหมือนว่า โรคนี้จะอยู่ไกลตัวจากประเทศไทย แต่ล่าสุดโรคได้ระบาดมายังประเทศจีนแล้ว โดยมีทิศทางการระบาดจากตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่ใต้ นั่นหมายถึง African Swine เริ่มเข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ประเทศไทยเข้าไปทุกทีแล้ว

คำถามก็คือ ทำไมผู้ประกอบการปศุสัตว์ถึง “กลัว” โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมูกันมากนัก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในคน โดยโรคนี้พบครั้งแรกในปี 1960 หรือ 58 ปีมาแล้วในพื้นที่ subSahara มากกว่า 20 ประเทศ มีรายงานว่า ต้นตอโรค ASF มาจากหมูป่าลุกลามเข้ามาติดต่อหมูในฟาร์มหรือการเลี้ยงหมูของชาวบ้าน ต่อมาโรคได้แพร่อย่างช้า ๆ จากแอฟริกาเข้ามายังกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน (สเปน-โปรตุเกส-อิตาลี-ฝรั่งเศส) และเข้าสู่ยุโรปกลางในที่สุด นอกจากนี้ยังมีรายงานการระบาดในตะวันออกกลางแถบประเทศอิหร่านด้วย

และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบความถี่ของการระบาดในประเทศลัตเวีย-ยูเครน-เอสโตเนีย-ลิทัวเนีย และรัสเซีย จนล่าสุดโรคได้ข้ามเข้ามายังกลุ่มประเทศยูเรเซีย และเดินทางมาถึงจีนในที่สุด (เดือนสิงหาคม 2561) ล่าสุดมีรายงานว่า African Swine ได้ระบาดถึง 5 มณฑลในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลเหลียวหนิง ระบาดหนักสุด รัฐบาลจีนได้สั่งฆ่าหมูไปมากกว่า 40,000 ตัว และยังพบว่าโรคระบาดจากจุดที่พบไปไกลกว่า 1,000 กม.

ความน่ากลัวของโรค ASF ก็คือ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ โดยหมูที่ติดเชื้อไวรัส (asfarviridae family-genus asfivirus) นี้จะมีอัตราการป่วยสูงมาก ส่วนอัตราการตายของหมูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อไวรัส ถ้ารุนแรงมากหมูจะตายภายใน 7-10 วัน โดยจะเริ่มจากหมูป่วยมีไข้สูง ไม่กินอาหาร ซึม พบจุดเลือดเป็นจุด ๆ หมูจะป่วยนอนสุมกันเป็นกอง ๆ ในคอก หอบ ตัวสั่น ไอ และตายในที่สุด เรียกว่า อัตราการตายแทบจะเป็น 100% ถ้าเป็นการติดเชื้อ ASF อย่างเฉียบพลัน

ดังนั้นการป้องกันการระบาดของโรค ASF ที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ ถ้ายังไม่พบการระบาดในประเทศก็ต้องสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสหลุดรอดเข้ามาทุกช่องทาง เนื่องจากเป็นแล้วไม่มีทางรักษา แต่ถ้าเกิดการระบาดขึ้นมาแล้ว วิธีการเดียวที่ใช้กันในตอนนี้ก็คือ การฆ่าหมูในพื้นที่ที่มีการระบาดทิ้งเพื่อควบคุมโรคให้ได้ เมื่อฆ่าหมูทิ้งไปแล้วก็ต้องทำลายซากไม่นำมาบริโภค เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถอยู่ได้นาน ทนต่อความร้อนได้สูง สามารถแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วระหว่างหมูต่อหมูที่สัมผัสกับตัวที่กำลังป่วย จากระบบการขนส่ง เสื้อผ้า น้ำเสียจากฟาร์มหมู และผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส

โดยมีตัวอย่างพบในแฮม เศษเนื้อ เนื้อหมักเกลือ อยู่ได้มากกว่า 100 วัน

จริงอยู่ที่ว่า ในตอนนี้ยังไม่มีรายงานการติดต่อของโรคอหิวาต์แอฟริกันหมูในคน แต่ถ้าเกิดการระบาดขึ้นมาในฟาร์มหมูภายในประเทศแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการบริโภคหมูของผู้คนในประเทศ ตลอดจนการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสดหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู (มีรายงานการพบเชื้อไวรัสในหมูแฮม)


ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศ “ชะลอ” การนำเข้าผลิตภัณฑ์หมูจากจีนเป็นระยะเวลา 90 วัน และสั่งคุมเข้มการนำเข้าทุกด่านชายแดนเพื่อไม่ให้โรคหลุดรอดเข้ามาได้แม้ว่า ไทยแทบจะไม่มีการนำเข้าหมูจากจีนเลยก็ตาม แต่ยังไม่มีใครออกมารับรองได้ว่า จะไม่มีการลักลอบนำเข้าหมูตามแนวชายแดนห่างไกลได้ ส่งผลให้บรรดาฟาร์มหมู-ผู้เลี้ยงสุกรยักษ์ใหญ่ของประเทศตอนนี้ก็ได้แต่ “ภาวนา” กันว่า อุตสาหกรรมหมูไทยจะปลอดภัยจาก ASF และไม่ซ้ำรอยเหมือนการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ทำความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมไก่อย่างมหาศาลมาแล้วในอดีต