แชร์แม่นั่นแม่นี่

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวเรื่องการฉ้อโกงประชาชน โดยการกู้ยืมเงินจากประชาชนที่ให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน หรืออัตราตลาดมาก ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เริ่มต้นเท่าที่จำได้ เมื่อ 40 ปีก่อน สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจโดยทั่วไปกำลังซบเซาอย่างหนัก หลังวิกฤตการณ์น้ำมัน

ครั้งที่ 2 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคืออยู่ในระดับ 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลานาน ราคาข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาลพากันตกต่ำหมด แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ถีบตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 19-20 ต่อปี สาเหตุจากการรวมตัวกันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง ทำให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น จึงเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สถาบันการเงินก็มีปัญหา รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเข้ามาช่วยรับประกันเงินฝาก แต่ก็มิได้รับประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รับประกันบางส่วนให้ผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่ถูกถอนใบอนุญาตโดยแบ่งการรับเงินคืนออกเป็นงวด ๆ เป็นที่เดือดร้อนกันทั่วไป ผู้คนหมดความไว้วางใจสถาบันการเงิน จนเกิดการแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อถูกคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่โจมตีเพราะไม่ยอมผ่านเช็คด้วยเงินเพียง 40,000 บาท โดยอ้างเหตุว่าเงินในบัญชีมีไม่พอ

บรรยากาศของเศรษฐกิจและการเงินของประเทศขณะนั้นเต็มไปด้วยภาวะอึมครึม เพราะรัฐบาลมีความจำเป็นต้องขึ้นภาษีและทบทวนงบประมาณรายจ่ายที่ผ่านรัฐสภาไปแล้วลดลงทุกปี ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจการเงินดังกล่าวก็มีเรื่องการลงทุนใน “แชร์แม่ชม้อย” เกิดแพร่สะพัดให้ได้ยินกันไปทั่ว โดยอดีตเจ้าหน้าที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ปล่อยข่าวลือว่า สามารถซื้อน้ำมันเถื่อนจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกได้ในราคาถูก เปิดทำการระดมทุนจากประชาชนให้เข้าหุ้นกับตนเพื่อนำไปลงทุนซื้อน้ำมันดังกล่าว โดยมีหน่วยการลงทุนหรือการซื้อเป็นจำนวนคันรถได้และประกันว่าจะได้ผลตอบแทนสูง

เมื่อเวลาผ่านไปจากที่เคยทำการซื้อน้ำมันเป็นจำนวนคันรถก็ซื้อเป็นจำนวนล้อ ล้อหนึ่งคือ 1 ใน 4 คัน รวบรวมเงินได้เป็นเงินจำนวนมากร้อนถึงรัฐบาลในขณะนั้นไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ ต้องให้วงแชร์ล้มและประชาชนไม่ได้รับเงินคืนเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง

ประชาชน กำหนดลักษณะของการกู้ยืมประชาชนโดยผู้กู้ยืมมิได้ประกอบอาชีพอะไร หรือนำเงินไปลงทุนอะไรที่จะมีผลตอบแทนในอัตราที่สูงขนาดนั้น ในรอบแรก ๆ ที่ผู้ร่วมลงทุนสามารถได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนได้ก็เพื่อให้ดูสมจริง แต่ความจริงคือการนำเงินของผู้ร่วมลงทุนที่เข้าใหม่ไปจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับผู้ลงทุนคนก่อน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและชักชวนกันเข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้ฐานสมาชิกเพิ่มหรือลูกค้าต่อพ่วงกันยาวไปเป็นลูกโซ่ สร้างฐานให้ใหญ่ขึ้นในทำนองเดียวกับ “พีระมิด” ฝรั่งจึงเรียกเกมเช่นนี้ว่า pyramid games เมื่อถึงจุดหนึ่งวงแชร์เช่นว่าก็ต้องล้ม จะขยายต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเข้าจับกุมตามพระราชกำหนดและยึดทรัพย์สินมาคืนประชาชน ประชาชนได้รับคืนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของเงินลงทุน

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้เสียหายก็โกรธแค้นรัฐบาล โดยหลงเชื่อผู้ตั้งวงแชร์ว่ามีธุรกิจค้าน้ำมันใต้ดินจริง จน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นออกมาเล่นงานรัฐบาล หลังจากมีการลดค่าเงินบาทในคืนวันลอยกระทง 2 พฤศจิกายน 2528
แต่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ประชาชนก็ยังหลงเชื่อผู้ตั้งวงแชร์คนใหม่ที่ออกมาฉ้อโกงประชาชนอีก เพราะต่อมาก็มี “แชร์แม่นกแก้ว” และแชร์ชาร์เตอร์เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นการแต่งเรื่องทำนองเดียวกัน จากปี 2526-2527 มาจนถึงปัจจุบัน ลูกไม้เก่า ๆ ก็ยังคงใช้ได้ผล

ล่าสุดก็เกิดแชร์แม่มณีขึ้นมาอีกในลักษณะเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่เท้าแชร์เป็นหญิงอายุไม่มาก แต่ก็สามารถสร้างความเชื่อถือกับประชาชน สามารถระดมเงินได้เป็นจำนวนมาก ตามข่าวว่ากว่า 1,000 ล้านบาท ขณะถูกจับกุมสามารถยึดเงินในบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่นมีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

ที่น่าสังเกตสำหรับเหตุของขบวนการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น มักจะเกิดในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังซบเซาขนาดหนัก ราคาสินค้าเกษตรเป็นต้นว่า ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ปาล์มน้ำมัน พากันแห่ราคาตกพร้อม ๆ กันหมด ปกติราคาสินค้าเกษตรชนิดต่าง ๆ จะไม่ขึ้นลงพร้อม ๆ กัน บางปีราคาข้าวขึ้น ยางพาราลง อ้อยน้ำตาลลง ราคาปาล์มน้ำมันทรงตัว เป็นต้น ไม่ค่อยจะขึ้นหรือลงพร้อม ๆ กัน

นอกจากเกิดภาวะล้นตลาดเพราะความต้องการโดยรวมลดลง หรือขาดตลาดเพราะความต้องการโดยรวมสูงขึ้น และเมื่อลงหรือขึ้นก็จะเป็นเช่นนั้นติดต่อกันหลายปีจนการผลิตลดลง เพราะผลิตขาดทุนติดต่อกันหลายปี หรือความต้องการเพิ่มขึ้นเพราะการบริโภคเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น

เมื่อมีรายงานว่าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น การกู้ยืมในภาคชนบทและในเมืองก็จะลดลง ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเงินออมกับเงินลงทุน กล่าวคือเงินลงทุนมีน้อยกว่าเงินออมของครัวเรือน ซึ่งดูจะขัดกันกับข้อมูลที่ว่าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ความจริงไม่ขัด เพราะขณะที่ครัวเรือนออมเงินน้อยกว่าเงินลงทุน ยอดหนี้ก็สูงขึ้น

ส่วนครัวเรือนที่ออมเงินมากกว่าลงทุน เงินก็จะเหลือ จึงเป็นโอกาสดีของนักฉ้อโกงประชาชนที่จะออกมาตั้งวงแชร์ปล่อยข่าวสร้างเรื่องการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่สถาบันการเงินในตลาดให้ผลตอบแทนหรือเงินปันผลในรูปดอกเบี้ยต่ำ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นหรือเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจกำลังเคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือซบเซาตามวัฏจักรเศรษฐกิจ สะท้อนภาพเศรษฐกิจของคนระดับล่างว่ากำลังตกต่ำอย่างหนัก

ที่กำลังคอยฟังข่าวอีกอันหนึ่งก็คือ ข่าวเรื่อง “ตกทอง” วิธีการก็คือมีคนเก็บทองรูปพรรณที่คนทำตกไว้หรือลืมไว้ โดยให้เห็นกับตาของเหยื่อ เป็นทองคำหนัก 10 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง แต่มีความต้องการรีบกลับบ้าน เพราะจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จึงขอแลกกับทองรูปพรรณที่หนักเพียง 1 บาท หรือ 6 สลึงของเหยื่อ เมื่อกลับมาแล้วจะมาแลกคืน มีคนหลงเชื่อถอดสร้อยคอซึ่งเป็นทองคำแท้หนักบาทหนึ่ง หรือ 6 สลึง แต่เมื่อให้ร้านทองตรวจก็ปรากฏว่าเป็นทองเก๊ที่ชุบหนาสักหน่อย หรือเป็นทองไส้ทองแดงหรือไส้เงิน

วิธีต้มตุ๋นอย่างนี้ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ สาเหตุที่สามารถทำได้ก็เพราะความโลภของเหยื่อ ประกอบกับอยู่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก สมัยนั้นเมื่อจะมีการร่างพระราชกำหนด ซึ่งบัดนี้เป็นพระราชบัญญัติแล้ว มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะไม่ว่าตำรวจ สภานิติบัญญัติ แม้แต่อัยการและตุลาการ ก็ยังไม่สู้จะเข้าใจพฤติกรรมเช่นว่านัก เมื่อจะออกกฎหมายในลักษณะป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ผู้เสียหายยังไม่เกิด ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจึงไม่มี เพราะเป็นการเขียนหรือร่างกฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายอาญาของเรา ซึ่งเป็นระบบกล่าวโทษเพื่อเอาผิดสังคมเองก็ยังไม่เข้าใจ เข้าใจว่าแชร์ล้มเพราะทางการเข้ามายุ่ง ถ้าไม่มายุ่งก็คงไม่ล้ม ทั้ง ๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ว่านำไปลงทุนอะไร โดยอ้างว่า “เป็นความลับทางธุรกิจ” แต่ในที่สุดก็สามารถออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับเวลาก่อนที่ความเสียหายจะขยายวงกว้างออกไปอีก

ส่วน “การตกทอง” ก็เป็นเรื่องฉ้อโกงธรรมดา เพียงแต่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวัง หรือบางทีก็ควรตำหนิแรง ๆ ว่า ที่ตกเป็นเหยื่อแก่มิจฉาชีพก็เพราะความโลภ ถ้าผู้เป็นเหยื่อจะใช้เหตุผลและวิจารณญาณสักหน่อยก็คงไม่หลงเชื่อ ใครจะเอาทองหนัก 10 บาท มาแลกกับทองหนักบาทเดียว หรือหกสลึง มีก็แต่มิจฉาชีพเท่านั้น

แต่ที่น่าสนใจสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ economist และนักอาชญา criminologist ก็คือ อาชญากรรมลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ หรือเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตหรือไม่ เพราะมักจะเกิดในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือถดถอย และข้างหน้าก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซบเซา

ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาถดถอย จิตใจผู้คนห่อเหี่ยวไม่แจ่มใส อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อมีคนมาเสนอผลประโยชน์ก็มักจะเชื่อได้โดยง่าย ไม่เหมือนกับภาวะปกติ ในยามที่เกิดภาวะอัตราการว่างงานสูงก็มักจะมีคดีหลอกลวงให้ไปทำงานต่างประเทศ เหยื่อยอมเสียเงินเสียทองเพื่อแลกกับการได้งานที่มีรายได้สูงในต่างประเทศ ในยามที่การลงทุนหรือการฝากเงินกับสถาบันการเงินในระบบมีผลตอบแทนต่ำเพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา ก็จะเกิด “แชร์ลูกโซ่” ให้เห็นเป็นดอกเห็ดถ้าไม่ป้องกันขอให้เราท่านระมัดระวังตัวให้ดี