ราคาน้ำมันโลก ยังไม่ถึงเวลา “ขาขึ้น”

FILE PHOTO: Pump jacks operate at sunset in Midland, Texas, U.S., February 11, 2019. Picture taken February 11, 2019. REUTERS/Nick Oxford/File Photo
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตลาดน้ำมันโลกเริ่มตั้งตัวได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อราคาปรับขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ถึงเวลาที่ตลาดน้ำมันดิบโลกจะขยับขึ้นต่อเนื่องแล้วหรือไม่ ?

คำตอบจากนักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า นักลงทุนยังไม่ควรตีปีกคาดหวังมากมายถึงขนาดนั้น

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบที่ผ่านมา สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่สุดการผลิตน้ำมันของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกก็เริ่มตระหนักความจริงที่ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดลงมหาศาลมาก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดขนานใหญ่ของโรคโควิด-19

การลดการผลิตลงตามความตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปก กับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่นอกกลุ่มอย่างรัสเซีย ที่รวมเรียกว่า กลุ่มโอเปกพลัส รวม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กับที่ผลผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน ที่เรียกว่า เชลออยล์ ในสหรัฐอเมริกา ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ราวกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงวันละราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศผ่อนคลายลง เอื้อให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นโดยเฉพาะในยุโรป เริ่มทยอยเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

Advertisment

ส่งผลให้มีสัญญาณทางบวกในแง่ของดีมานด์น้ำมันเพิ่มมากขึ้นออกมา

แต่ปัญหาสำคัญที่เคยส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงแบบไม่มีหูรูดจนถึงระดับติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์น้ำมันโลก ยังคงไม่หนีหายไปไหน และยังคงสร้างแรงกดดันกลายเป็นเพดานปิดกั้นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงต่ำกว่าระดับเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่มากถึง 50% อยู่ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐอเมริกา

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การขาดคลังเก็บน้ำมันเพื่อรอการส่งมอบ ในสหรัฐอเมริกายังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ต่อไป นิโคลาส คอว์ลีย์ นักเศรษฐศาสตร์การตลาดของเดลีเอฟเอ็กซ์ ชี้ว่า ปัญหานี้จะยังส่งผลให้ราคาในการซื้อขายน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ดับเบิลยูทีไอ ยังคงผันผวนอย่างหนักต่อไป จนกว่าปัญหานี้จะคลี่คลาย น้ำมันดับเบิลยูทีไอ จึงจะปรับมาอยู่ในระดับที่เป็นเหตุเป็นผลได้

Advertisment

นอกจากปัญหาคลังเก็บน้ำมันรอการขาย ที่ยังหลงเหลือเพียงกะพร่องกะแพร่งอยู่มากแล้ว คอว์ลีย์เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ยังไม่น่าจะขยับขึ้นสูงมากนักในชั่วเวลาไม่ช้าไม่นาน แม้จะปรับเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำมัน “ส่วนเกิน” ที่ยังคงค้างอยู่ในตลาด จนทำให้ตลาดขาดความสมดุล ก็จะปิดกั้นการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ดับเบิลยูทีไอ ในอนาคต

ข้อมูลของพีวีเอ็ม ออยล์ แอสโซซิเอตส์ ชี้ให้เห็นว่า คลังน้ำมันสำหรับเก็บเพื่อรอการส่งมอบ ซึ่งวงการเรียกกันว่า “เวิร์กกิ้งสตอเรจ” ในพื้นที่ “ออยล์ฮับ” ของสหรัฐอเมริกา มีน้ำมันอยู่แล้วมากถึง 83% ของระดับความจุทั้งหมด หลงเหลือส่วนที่จะรองรับการจัดเก็บน้ำมันรอการส่งมอบ ได้อีกเพียง 13 ล้านบาร์เรลเท่านั้นเอง

เอห์ซาน โคห์มาน หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์และวิจัยประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ของธนาคารเอ็มยูเอฟจี เปิดเผยว่า จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า ความต้องการน้ำมันลดลงต่ำสุดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ -26.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ถึงตอนนี้ความต้องการเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยหลักมาจากจีนและความต้องการน้ำมันเพื่อการขนส่งในประเทศพัฒนาแล้ว

กระนั้น โคห์มานชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตที่ลดลงบวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ล้นเป็นส่วนเกินอยู่ในตลาดที่ผ่านมาลดลงมากมายแต่อย่างใด

เชื่อว่า ตลอดเดือน พ.ค.นี้ น้ำมันดิบยังคงเกินความต้องการอยู่ไม่น้อยกว่า 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ตราบใดที่น้ำมันดิบจำนวนนี้ไม่เหือดหายไปจากตลาด ตราบนั้นระดับราคายังคงตกอยู่ใต้ความกดดันและผันผวนหนักต่อไป

เอ็มยูเอฟจีคาดว่า อุปสงค์และอุปทานน้ำมันจะเข้าสู่สมดุลในราวปลายเดือน พ.ค. ดังนั้น เมื่อหมดไตรมาส 2 เบรนต์น่าจะอยู่ที่ 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดับเบิลยูทีไออยู่ที่ 28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ในขณะที่โกลด์แมน แซกส์ มองไปไกลกว่า คาดว่า น้ำมันดิบโลกน่าจะเข้าสู่ “ภาวะปกติ” ได้ในปี 2021 โดยจะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในครึ่งหลังของปีหน้านั่นเอง