ระงับสงครามแย่งน้ำวังโตนด

บทบรรณาธิการ

ในช่วงเดือนเมษายนก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนในปลายเดือนพฤษภาคม 2563 หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จังหวัดระยอง ได้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงถึงขั้นที่ว่า ในที่ประชุมบริหารจัดการน้ำจังหวัดได้ปรากฏข้อเท็จจริงออกมาว่า ระยองกำลังขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

จากประมาณการตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งจังหวัดมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 62 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่แค่ 17.71 ล้าน ลบ.ม. จึงมีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ในภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในระบบอ่างพวง เพื่อนำมาเพิ่มปริมาณน้ำใช้การได้ให้จังหวัด โดยจะไม่มีการส่งน้ำต่อไปช่วยเหลือพื้นที่อื่น ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องออกมาตรการรณรงค์การประหยัดน้ำอย่างหนัก ไปจนถึงการปรับลดการใช้น้ำของทั้งโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ลงไปด้วย

ความเสี่ยงที่จังหวัดระยองจะขาดแคลนน้ำได้ถูกสะท้อนออกมาจากความกังวลของภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้น้ำรายใหญ่ ผ่านระบบของการประปาส่วนภูมิภาคและผ่านการจัดหาน้ำจากบริษัทอีสท์วอเตอร์

โดยก่อนหน้านี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการด้วยการทำข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี-ผู้ว่าจังหวัดระยอง-และคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด แหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวที่ยังมีศักยภาพเหลืออยู่ในภาคตะวันออก “อนุญาต” ให้ผันน้ำจำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. ด้วยการใช้ระบบสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด เข้ามายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาช่วยจังหวัดระยองโดยตรง

การแบ่งน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด ในความเข้าใจของชาวจังหวัดจันทบุรี เจ้าของลุ่มน้ำแห่งนี้ถือเป็นเรื่องเฉพาะกิจ เป็นการช่วยเหลือจังหวัดข้างเคียงอย่าง “จำกัด” ปริมาณน้ำที่จะสามารถแบ่งให้ได้ ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่เรื่องการผันน้ำอย่างถาวร ดังนั้นเมื่อปริมาณน้ำจำนวน 10 ล้าน ลบ.ม.ถูกผันส่งต่อไปให้กับจังหวัดระยองเต็มตามข้อตกลงร่วมกันแล้ว ชาวจังหวัดจันทบุรีจึงไม่ยินยอมที่จะให้มีการผันน้ำส่งต่อไปช่วยจังหวัดระยองอีก เนื่องจากจันทบุรีก็ประสบปัญหาภัยแล้ง มีความต้องการใช้น้ำเหมือน ๆ กับทุกพื้นที่ของประเทศ

แต่ทว่าสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง อันเป็นสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเฉพาะหน้าในขณะนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดเข้ามาช่วยเหลือหรือจนกว่าฝนจะตก ดังนั้นกรมชลประทานในฐานะผู้บริหารจัดการน้ำของประเทศจึงต้องลงไปทำความเข้าใจกับชาวจันทบุรีขอผันน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ไม่ใช่การผันน้ำมาช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการตัดไฟระงับมิให้ลุกลามกลายไปเป็นสงครามแย่งน้ำ 2 จังหวัด