“เที่ยวไทย” จะเป็นอย่างไร ? (ถ้า) ซัพพลายตายหมด

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก ทุกประเทศ lock down ปิดทางเข้า-ออกตลอดช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก

และไม่เพียงแต่การเปิดทางเข้า-ออกระหว่างประเทศเท่านั้น การคมนาคมขนส่งภายในประเทศของประเทศต่าง ๆ ก็หยุดชะงักชั่วคราวเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้นล่าสุดคาดการณ์ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะปรับตัวลดลงเกือบ 2 เท่าตัวคือเหลือแค่ราว 7-8 แสนล้านบาท จากเป้ารายได้ 2.02 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ลดลงประมาณ 1 เท่าตัว หรือเหลือ 4-5 แสนล้านบาท จากเป้ารายได้ 1.16 ล้านล้านบาท

ทำให้เป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมสำหรับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 3.18 ล้านล้านบาท

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงรุนแรงในหลายภูมิภาค ทำให้คาดกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงชะลอการเดินทางไปจนถึงปลายปี

ขณะที่การแพร่ระบาดในประเทศนั้นมีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เกิดจากคนในประเทศเพิ่ม รัฐบาลประกาศปลดล็อกภาคธุรกิจเป็นระยะ และน่าจะปลดล็อกได้ทั้งหมดภายในมิถุนายนนี้

ภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง, และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงเตรียมออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อสตาร์ตเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยในเบื้องต้นจะโฟกัสการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก ภายใต้โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเวลา 4 เดือนคือระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563

หากถามว่ารูปแบบ หลักคิดของแคมเปญดังกล่าวนี้จะออกมาแบบไหน อย่างไร ใครบ้างที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ขอให้อดใจรออีกสักนิด คาดว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้แน่นอน

แต่เป้าหมายคือ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงโลว์ซีซั่น เพื่อให้เกิดโมเมนตัมส่งไปถึงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น และดันรายได้จากการท่องเที่ยวรวมถึง 1.23 ล้านล้านบาท โดยมีการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองคือ งบประมาณดังกล่าวที่รัฐใส่ลงมานั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นกลุ่มแรก ๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ทั่วถึงแค่ไหน

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางส่วนว่า ประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวอยากเห็นและอยากให้รัฐสนับสนุนผ่านมาตรการดังกล่าวนี้ควรเป็นอย่างไร

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายรายมองในทิศทางเดียวกันว่า ประเด็นที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ งบประมาณจะกระจายให้ทั่วถึงกลุ่มผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างไร จึงเสนอให้รัฐกำหนดว่าให้ใช้จ่ายผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานในทุกส่วนด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรม, รถเช่า, ร้านอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ และจ่ายค่าบริหารจัดการให้บริษัททัวร์สักราว 5-10% ก็พอ

โดยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งหมดที่จะเข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียน ผู้ได้รับสิทธิสามารถเลือกใช้บริการได้ ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้สามารถควบคุมให้เกิดการเดินทางและท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมาย และกระจายงบฯได้ทั่วถึง โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณไปเยียวยาผู้ประกอบการแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับ “ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์”นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ที่บอกว่า สิ่งที่ทุกส่วนอยากเห็นคือ วิธีการที่ทำให้งบประมาณที่รัฐใส่ลงมากระตุ้นการท่องเที่ยวนั้นเข้าถึงทุกซัพพลายเชนของการท่องเที่ยว

อีกประเด็นคือ ไม่อยากให้มาตรการที่จะออกมาเป็นเหมือนโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ดูเหมือนจะเน้นการใช้จ่ายในลักษณะ “ช็อปช่วยชาติ” มากกว่าที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นรูปแบบที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น อยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาหลักการและรูปแบบให้ละเอียดรอบคอบ เพราะหากครั้งนี้รัฐใส่งบประมาณลงไปแล้วผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของรัฐตามที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา

ที่สำคัญ ท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา แต่เราไม่มีซัพพลายรองรับ ซึ่งแน่นอนว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคงไม่สามารถเติบโตอย่างแข็งแรงเหมือนเดิมได้อีกต่อไป