“เศรษฐกิจ-การเมือง” ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

บทบรรณาธิการ

ครึ่งปีแรกผ่านไปไม่ทันไร กันยายนเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ เดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 มาถึงเร็วเกินคาด อีก 3 เดือน ปีชวดก็จะผ่านพ้นไป เข้าศักราชใหม่ปีฉลู 2564 แต่ที่ยังดำรงอยู่คือความเสี่ยงและปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กับวิกฤตสุขภาพอนามัย ที่ยังวางใจได้ยาก

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อไม่สิ้นสุด นอกจากจะทำให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ หรือ new normal แล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการดำเนินกิจการแตกต่างไปจากเดิม ใครอยากอยู่รอดก็ต้องปรับวิถีให้สอดรับกับโลกที่ปรับเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจทั้งระบบได้รับผลกระทบหนักหลังโควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพารายได้จากการส่งออก ท่องเที่ยวจึงถูกกระทบรุนแรง แม้สถานการณ์โควิดในไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่การขนส่งการเดินทางทั่วโลกที่ยังต้องคุมเข้ม ไม่สามารถผ่อนคลายได้เต็มที่ เศรษฐกิจจึงเหมือนติดล็อกกลาย ๆ

ส่งผลให้รายได้หลักเข้าประเทศลดวูบ ล่าสุด ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัวติดลบเป็นประวัติการณ์ถึง 12.2% ที่สำคัญไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตหลายสาขาเท่านั้นที่ยอดขายหดรายได้ลด ต้องปลดคน เลิกจ้างพนักงานนับล้าน บัณฑิตจบใหม่หลายแสนคนก็พลอยถูกปิดโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน หากรัฐไม่เร่งหาทางออก ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง จะลามเป็นวิกฤตทางสังคม รวยกระจุกจนกระจายยิ่งขยายวงกว้าง

ไตรมาส 3 ถึงโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จึงถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นจากถดถอย เกิดการจ้างงาน ให้คนระดับกลาง ล่างมีรายได้ กระตุ้นกำลังซื้อที่ซบเซาให้กระเตื้อง เร่งเบิกจ่ายงบฯปีนี้ไม่ให้ค้างท่อ ต่อด้วยการอัดฉีดงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เร่งจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับสปีดโครงการภายใต้งบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาทให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบต่อเนื่อง

ที่ต้องระมัดระวังคืออย่าให้การเมืองที่กำลังคุกรุ่นจากม็อบนักศึกษา การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ บานปลายเป็นความขัดแย้ง โดยทุกภาคส่วนยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แปรความหลากหลายเป็นพลังก้าวไปข้างหน้า เพราะวิกฤตครั้งนี้คงอีกไกลกว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากโหมไฟการเมืองจนถึงทางตัน นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบสุ่มเสี่ยงมากขึ้นแล้ว การพลิกฟื้นจะยิ่งยาก มีแต่จะสูญเสียทั้งเวลาและโอกาส