สินค้าแพงต้องดูแลทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภค

Photo by Mladen ANTONOV / AFP
บทบรรณาธิการ

จากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.71 (YOY) หรือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.38 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศในหมวดพลังงาน ราคาผักสด เครื่องประกอบอาหาร และราคาเนื้อหมู ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนจากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น

เฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ดัชนีขยับสูงขึ้นร้อยละ 0.43 หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ในกลุ่มเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.24 กลุ่มผักสดร้อยละ 12.69 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ประเภทน้ำมันพืช ซอสต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 6.21

ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.25 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.73 เฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียว ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 37.19

จนเป็นที่มาของความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อพบว่า เงินที่มีอยู่สามารถซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลงจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอย่าง ข้าว และอาหารสำเร็จรูป ที่กำลังทยอยปรับขึ้นราคาตามราคาวัตถุดิบ เนื้อสัตว์ เนื้อหมู น้ำมันพืช และผักต่าง ๆ ในขณะที่ราคาน้ำมันได้เข้ามาซ้ำเติมให้สถานการณ์ด้านราคาสินค้าเลวร้ายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ล่วงเข้ามาเป็นปีที่สาม ทำให้รัฐบาลไม่สามารถหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาสินค้าได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเชื่องช้า รัฐบาลเพียงแต่ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินไปกว่า 30 บาท/ลิตร

แต่เป็นคราวเคราะห์ดีที่ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศมีโอกาสที่จะปรับลดลง หรือต้นทุนสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพก็จะลดลงตามไปด้วย

ในเมื่อสภาพความเป็นจริงจากข่าวดีเป็นเช่นนี้ จึงควรที่หน่วยงานรัฐบาลที่มีหน้าที่กำกับดูแลราคาสินค้าอย่าง กระทรวงพาณิชย์ จำต้องเข้ามาสอดส่องติดตามในเรื่องของราคาสินค้า ไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาเพื่อเอากำไรเกินจริง ซึ่งหมายถึงการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

อีกด้านหนึ่งก็จะต้องดูแลผู้ผลิตสินค้าให้อยู่ได้อย่างสมเหตุสมผล เมื่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นก็ต้องยอมให้ปรับขึ้นราคาสินค้าตามความเป็นจริง การยืนกระต่ายขาเดียวด้วยคำสั่งขอให้ผู้ผลิต “ตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน” โดยที่ไม่ดูต้นทุนที่แท้จริงนั้น สุดท้ายจะสร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น