กระทรวงแรงงานเยี่ยมโรงงาน ย้ำความเชื่อมั่นนายจ้างญี่ปุ่นผ่านวิกฤตโควิด

กระทรวงแรงงงานเยี่ยมนายจ้างญี่ปุ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งรองปลัดเยี่ยมโรงงาน ย้ำความเชื่อมั่นนายจ้างญี่ปุ่น รัฐบาลดูแลแรงงานผ่านวิกฤต ช่วยธุรกิจเดินได้

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานและให้ความรู้ด้านการเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร เพื่อให้องค์กรพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานของบริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด

โดยมีนายโยชิฮิโระ ทาคาดะ กรรมการผู้จัดการบริษัทให้การต้อนรับ ณ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 166 หมู่ 16 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ถนนอุดมสรยุทธ ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันมีลูกจ้าง 607 คน และมีสหภาพแรงงานยาและเวชภัณฑ์ร่วมดูแลด้านแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการ โดยบริษัทแห่งนี้ประกอบกิจการที่ผลิตยาแผนปัจจุบัน และส่งสินค้าขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และได้ตระหนักถึงหลักการและแนวทางของกระทรวงแรงงานในการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรด้วยบริษัท ตระหนักถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติงานและเพิ่มความสุขในการปฏิบัติงาน ความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในองค์กร ซึ่งผู้บริหารของบริษัทมีเจตจำนงที่ต้องการสนับสนุนหลักการดังกล่าว

นายวรรณรัตน์กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้แรงงานถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง

จึงได้ให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาในหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อนำเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย โครงการ Factory Sandbox การตรวจคัดกรองเชิงรุก RT-PCR 100% ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” การจัดหาเตียง hospitel รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 การเปิดสายด่วนให้ความช่วยเหลือประสานหาเตียงรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 การตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นต้น

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและเร่งให้การช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มแรงงาน สามารถรักษาระดับการจ้างงาน ประคับประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออกเติบโตต่อเนื่อง

โดยได้ดำเนินโครงการ Factory Sandbox ด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

ประการที่ 1 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แท่นพิมพ์เงินภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นรายได้สําคัญของประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลต้องรักษาการจ้างงานและรักษาแท่นพิมพ์เงินของธุรกิจภาคส่งออกที่มีภาคแรงงานกว่า 2 ล้านคน ใน 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เอาไว้ เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าได้

ประการที่ 2 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกมีวัคซีนจำกัด ได้จัดสรรให้ผู้สูงอายุก่อน ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และป้องกันไม่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องนำเชื้อโควิด-19 ไปติดผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวที่บ้าน

นอกจากนั้นได้ดำเนินโครงการ Factory Sandbox ตามนโยบายรัฐบาลด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข ทั้งการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เยียวยา การให้ความช่วยเหลือ การฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองโควิด-19 เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินได้

ประการที่ 3 สำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศรวมกว่า 200 แห่ง ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการรองรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอาศัยสถานพยาบาลเหล่านี้ในการตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฉีดวัคซีนแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

ประการที่ 4 กระทรวงแรงงานได้ทำงานใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน จึงทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด บรรลุวัตถุประสงค์และตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง