เลือก “คน” ที่ใช่ ผ่านเรียลไทม์ด้วย “eJobfair”

การหาคนของนายจ้าง และการหางานของลูกจ้างในปัจจุบันล้วนติดต่อกันผ่านออนไลน์เป็นหลัก ก่อนที่จะมาสู่รูปแบบออฟไลน์ ด้วยการโทรศัพท์นัดสัมภาษณ์ เพื่อพูดคุยหรือทดสอบด้านต่าง ๆ กันภายหลัง

แม้กระบวนการนี้จะเป็นรูปแบบการหางานเป็นระบบที่สุด แต่ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับฝั่งนายจ้าง ที่ฝ่ายเอชอาร์ไปเสิร์ชจากเรซูเม่ ก่อนที่จะติดต่อกลับไปยังผู้สมัคร ซึ่งปรากฏว่าได้งานทำแล้ว หรือเจอกับเหตุการณ์ที่ผู้สมัครไม่ตอบรับการสัมภาษณ์ เพราะเพิ่งจะมาพิจารณาภายหลังว่าตำแหน่งงานนั้นไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง

สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้สมัครที่ใช้วิธีหว่านเรซูเม่ไปยังหลายบริษัท ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่ผู้สมัครงานต้องออกไปหางานทำ พวกเขาต้องมีต้นทุน (เงิน) สำหรับการเดินทางไปสัมภาษณ์ยังบริษัทต่าง ๆ ซึ่งหากผ่านก็ดี ถือว่าคุ้มค่าสำหรับค่าเดินทางที่จ่ายออกไป แต่ถ้าไม่ได้ตอบรับผลการสัมภาษณ์งานแต่อย่างใด ถือว่าฟาวล์

ดังนั้น สิ่งที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องใช้ไปกับกระบวนการหาคน และหางานพร้อม ๆ กัน คือ “เวลา” และ “เงิน”

ผลตรงนี้ เป็นสิ่งที่ “มนูญ ศรีเจริญกุล” ประธานบริษัท และผู้ก่อตั้ง www.ejoblive.com สัมผัสมาตลอด 15 ปี จากประสบการณ์ในการเป็นผู้สรรหาบุคลากรให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปีละประมาณ 1,500 คน โดยเขาได้นำปัญหา และอุปสรรคมาเป็นโจทย์สำคัญในการปลุกปั้น www.ejoblive.com หรือระบบสรรหาบุคลากรออนไลน์แบบเรียลไทม์

“จากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่าส่วนใหญ่ข้อมูลผู้สมัครไม่อัพเดต ซึ่งเขาอาจได้งานทำแล้ว หรืออื่น ๆ เราเลยมองว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาอยู่ในระบบ และแอ็กทีฟ โดยมีแนวคิดคือสร้าง cyber community สำหรับคนหางาน ให้คนมา hang out ในระบบของเรา ทำให้รู้ว่าใครบ้างที่กำลังแอ็กทีฟ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งงานอย่างทั่วถึงตลอดเวลา อันสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยที่เล่นอินเทอร์เน็ตประมาณ 9 ชั่วโมงต่อวัน เราจึงถือว่าระบบของเราพัฒนามาถูกทาง”

“มนูญ” สะท้อนแนวคิดของธุรกิจพร้อมบอกว่า บริการที่โดดเด่นของเว็บไซต์ คือ eJobfair เป็นงานนัดพบแรงงานออนไลน์เรียลไทม์ผ่านเครื่องมือสื่อสารอย่างคอมพิวเตอร์ แท็บเลต และสมาร์ทโฟน โดยจะมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น eTest ที่จะทดสอบความถนัดด้านภาษาอังกฤษ พิมพ์ดีด หรือการวิเคราะห์บุคลิกภาพ, eDocument ที่ให้ผู้สมัครโหลดเอกสารสมัครงานไว้ในระบบ และสามารถส่งไปยังนายจ้างได้เลย, eAppraisal เป็นการประเมินผลผู้สมัครงาน ซึ่งจะมีแบบฟอร์มมาตรฐานให้ รวมถึงบริษัทสามารถออกแบบได้เองว่า อยากประเมินผลผู้สมัครด้านใดบ้าง

ทั้งนั้น eJobfair จะกำหนดวัน และเวลาเข้าระบบให้กับนายจ้าง และลูกจ้าง โดยการสัมภาษณ์มี 2 รูปแบบ คือ eChatting และ eVideo call ซึ่งระบบจะเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด และบริษัทสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ โดยระหว่างการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ หน้าจอของฝั่งนายจ้างจะปรากฏเรซูเม่ และใบประเมินลูกจ้างไปพร้อมกันด้วย

“เราพัฒนาระบบ eJobfair มา 4 ปี ก่อนที่จะ soft launch เมื่อ ต.ค. 2560 และเริ่มมี eJobfair ครั้งแรกเมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราเชิญนายจ้างมา 20 กว่าบริษัท มีผู้สมัครงานเข้ามาในระบบ 500 กว่าคน จำนวนนี้ 35% ได้รับการพิจารณาจากนายจ้าง โดย 10% ได้งานทันที 15% มีการนัดสัมภาษณ์ต่อ และอีก 10% อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเราวางไว้ว่าในช่วงแรกจะนัด eJobfair เดือนละครั้ง ก่อนที่จะเพิ่มความถี่ในระยะถัดไป”

ด้วยความที่เป็นระบบสรรหาบุคลากรรูปแบบใหม่ “มนูญ” ยอมรับว่ายังเข้าถึงผู้บริโภคค่อนข้างจำกัด และคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากมองมุมกลับกัน eJobfair นับเป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็นครั้งแรกของไทยที่มีระบบการสัมภาษณ์ออนไลน์แบบเรียลไทม์ ซึ่งต่างจากเดิมที่การสมัครงานเป็นกึ่งออฟไลน์กับออนไลน์

โดย eJobfair ทำให้คนสามารถสมัครงานได้จากที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่าย เพียงแค่ล็อกอินมาหางาน และสัมภาษณ์งาน ก็จะรู้ผลทันทีว่ามีโอกาสได้งานทำหรือไม่

“ยิ่งกว่านั้น ระบบของเรายังสร้าง socio-economic benefits เพราะในแต่ละปีมีเด็กจบใหม่ประมาณ 6 แสนคน เมื่อเข้าสู่กระบวนการหางานที่ใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ละคนต้องสำรองค่าใช้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท สำหรับค่ากินค่าที่อยู่ เมื่อคำนวณแล้วจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไม่ควรเสียปีละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งหากทุกคนหางานผ่านระบบนี้ ผลกระทบดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น”

ปัจจุบันมีบริษัทอยู่ในระบบของ eJobfair ประมาณ 2,000 ราย และมีผู้สมัครที่แอ็กทีฟอยู่กว่า 35,000 ราย ซึ่งแผนธุรกิจปีนี้ของ “มนูญ” คือ การทำ strategic partner ด้วยการจับมือกับหน่วยงานขนาดใหญ่อย่าง สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เป็นต้น โดยคาดว่าฐานลูกค้าทางฝั่งนายจ้างในปีนี้จะเติบโต 10% เพราะระบบ eJobfair สามารถตอบโจทย์องค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างดี บริษัทใช้เวลาในการหาคนได้ภายใน 1 วัน ขณะที่การหาคนรูปแบบเดิมใช้เวลา 30-45 วัน

นอกจากนี้ จะเสริมการบริการให้กับลูกจ้าง โดยจัดตั้ง customer service สำหรับจัดทำรายงานทุกสัปดาห์ว่า เรซูเม่ของผู้สมัครคนใดไม่สมบูรณ์ หลังจากนั้นจะมีทีมโทร.ไปแจ้งผู้สมัครให้เพิ่มเติมรายละเอียด พร้อมกับแนะนำเรื่องที่ควรทราบในการสมัครงาน ตรงนี้จะทำให้นายจ้างแฮปปี้ที่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกันจะทำ facebook live สำหรับให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงาน เช่น กฎหมายแรงงาน หรือเทคนิคการทำงานให้มีความสุข ซึ่งจะพัฒนาลูกจ้างให้มีศักยภาพมากขึ้น และประสบความสำเร็จในการทำงาน

เมื่อถามถึงการแข่งขันของธุรกิจจัดหางาน “มนูญ” มองว่า สักระยะจะต้องมีบริษัทที่พัฒนาระบบตามรูปแบบเดียวกับ eJobfair ดังนั้น เพื่อหนีจากคู่แข่ง บริษัทจะนำระบบ AI เข้ามาตอบโจทย์ในการสกรีนคนที่ใช่ มากกว่าการเน้นพิจารณาผ่านเรซูเม่ ซึ่งจะเป็นโมเดลต่อยอดที่ทำให้ระบบสมบูรณ์มากขึ้น และทำให้คู่แข่งหันมาจับมือทำงานร่วมกับ eJobfair

“เรามองทิศทางของ eJobfair ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่าจะขยายไปต่างประเทศ เริ่มจากตลาดเออีซี เพราะมีการไหลบ่าของแรงงานอยู่แล้ว เราจึงอยากให้ eJobfair เป็นฐานในการรับสมัครคนระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายโมเดลธุรกิจ โดยเราอาจเข้าไปทำงานกับคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว แล้วขายแฟรนไชส์ให้เขานำระบบของเราไปใช้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไปไวกว่าที่เราเข้าไปทำเองทั้งหมด”

เพราะเป้าหมายของ “มนูญ” ไม่ใช่แค่ทำให้ eJobfair เป็นระบบสรรหาบุคลากรออนไลน์แบบเรียลไทม์ดีที่สุดของไทย แต่ต้องก้าวสู่การเป็น regional platformสำหรับทุกคนที่ต้องการหางานทำ