“แสนสิริ” ชู Agile มุ่งสู่ Dream Place to Work

“แม้ว่าธุรกิจของแสนสิริถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ก็ตาม แต่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความรวดเร็วข้อมูล และปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค และรูปแบบสินค้า บริการ มีการปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับการทำงานของเรา ทั้งการพัฒนาโปรดักต์ การบริการ ทำให้เราต้องหันมามองตัวเองว่าจะทรานส์ฟอร์ม หรือปรับเปลี่ยนตัวเองตัวเองอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ผมยังเชื่อว่าวันนี้อาจยังไม่กระทบกับธุรกิจของเรามากนัก แต่วันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมาหาเราอยู่ดี”

คำพูดดังกล่าวข้างต้นเป็นมุมมองของ “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่บอกเล่าที่มาถึงการนำแนวคิดการทำงานแบบ agile มาปรับใช้ทั้งองค์กร เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัว และให้พนักงานกลุ่ม millennial โชว์ศักยภาพอย่างไร้ขีดจํากัดในการทำงาน เพื่อมุ่งบริษัทไปสู่ dream place of work ภายใน 3 ปี

“อุทัย” กล่าวอีกว่า ต้องย้อนไปเมื่อปีที่ผ่านมา แสนสิริเองมีการทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อปรับรูปแบบของการทำงานในองค์กร โดยมี The Boston Consulting Group (BCG) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ แนะนำเรื่องการปรับตัว ทั้งยังมีการศึกษาถึงแนวคิดการทำงานแบบ agile และ way of working โดยศึกษาค้นคว้าว่าองค์กรต่าง ๆ มีการประยุกต์ใช้แนวคิดในปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

“จนที่สุดแสนสิริจึงนำระบบการทำงานแบบ agile เข้ามาทดลองใช้กับโครงการที่เป็นคอนโดฯสูง (high rise) เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานแบบ agile จะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานระหว่างบุคคลหลัก ๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน ทั้งแผนกออกแบบ, ก่อสร้าง, การตลาด, การขาย และอื่น ๆ ให้สามารถทำงานแบบ cross functional team ด้วยการเรียนรู้ และทดลองไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่รู้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วผลิตออกมา แต่เน้นการทำงานที่ผลิต หรือพัฒนาสินค้า บริการออกมาเป็นระยะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

“เมื่อก่อนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของเรา แบ่งขั้นตอนออกเป็นส่วน ๆ จากฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีแผนกจัดซื้อที่ดิน, ออกแบบ, ก่อสร้าง, ประมาณราคา, การตลาด, โฆษณา, การขาย พวกเขาเหล่านี้จะมีไลน์ออฟคอมมานด์ของเขา และกว่าแต่ละฝ่ายจะมาคุยกัน ต้องผ่านหัวหน้างาน ก่อนไปเสนอวีพี (vice president) ก่อนที่จะไปเสนอฝ่ายโครงการ ต้องไปผ่านหัวหน้างานอีก ซึ่งถ้าวีพีท้วง หรือบางครั้งภาพที่ออกมาไม่เหมือนกับสิ่งที่ต้องการ ต้องย้อนกลับมาฝ่ายออกแบบอีก ทำให้ขั้นตอนการทำงานค่อนข้างช้า ทั้งยังทำให้ตัวสินค้าและบริการออกมาล่าช้าตามไปด้วย”

“แต่การทำงานแบบ agile จะเริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มพนักงานจำนวน 300 คน จากแผนกต่าง ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกันให้มาอยู่ด้วยกัน โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 12 squad (ทีม) โดยแต่ละ squad จะมี product owners เป็นหัวหน้า และกลุ่มคนเหล่านี้จะมานั่งทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ไอเดีย การซื้อที่ดิน การวางแผน สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ แก้กันตรงนี้เลย พูดง่าย ๆ เราดูทุกขั้นตอน ทั้งค่าใช้จ่าย ระยะเวลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจริง ๆ โดยก่อนที่จะออกมาเป็นสินค้า ยังสามารถแก้ pain point ของลูกค้าได้ด้วย”

การทำงานแบบ agile จะมีคีย์แมนสำคัญอย่าง “product owners” เพราะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจให้กับพนักงานใน squad นั้น ๆ ทำให้ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งในแต่ squad จะมี chapter lead หรือเดิมเรียกว่า หัวหน้าแผนก ซึ่งไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจเหมือนแต่ก่อน จะคอยมาเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาให้พนักงานแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังมี agile coach ที่คอยช่วยแนะนำให้คำปรึกษาระหว่างขั้นตอนการทำงาน โดยท้ายที่สุดจะมี tribe lead ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่มาคอยดูแล และควบคุมทั้ง 12 squad อีกที ทั้งนี้เมื่อนำ agile เข้ามาใช้ในการทำงาน ยังมีการปรับรูปแบบที่ทำงานใหม่ เพื่อให้อยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน ด้วยการจัดพื้นที่ใหม่ให้เป็นแบบ coworking space เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน ชวนให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ เพราะสิ่งแวดล้อมในการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญ

“อุทัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้แสนสิริมีพนักงานที่เป็นกลุ่ม millennial ถึง 70% ดังนั้น แนวคิดในการทำงานของคนกลุ่มนี้จะแตกต่างกับคนรุ่นก่อน เพราะพวกเขาโตมากับความรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลที่ง่าย และหลากหลาย ทำให้วิธีการทำงานของแสนสิริต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และการรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะทำให้บริษัททำงานรวดเร็วขึ้น

“ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการตัดสินใจเลือกสินค้า หรือการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง รวมถึงการเปลี่ยนไปของรูปแบบสื่อโฆษณา ทำให้ต้องมาคิดว่าเราจะตอบสนองกับลูกค้าเหล่านี้อย่างไรบ้าง ทำให้เราต้องสลายแผนก หรือเรียกว่า silo เพื่อปรับมาเป็น agile โดยมีการ retrain คนเพื่อให้เป็นพนักงานที่มีศักยภาพในการร่วมกันทำ project ต่าง ๆ”

“หลังจากที่เราปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น agile ปรากฏว่า 3 เดือนผ่านมา พวกเขาทำงานเร็วขึ้น ออกสินค้า และบริการเร็วขึ้น ตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นหลักได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องการพัฒนาสินค้า และบริการต่าง ๆ ที่สำคัญ พวกเขายังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 10-20% จึงทำให้ต้นทุนมีคุณภาพมากขึ้น แต่ระยะเวลาในการทำงานลดลง”

“นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความผูกพันของพนักงาน (employee engagement) จนทำให้พวกเขารู้สึกมีความเป็นเจ้าของงาน (ownership) ภูมิใจในผลงานตัวเอง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดศักยภาพในการทำงาน จนสามารถสร้าง top talent ที่มีคุณค่า เพื่อพร้อมพัฒนาความรู้ ความสามารถ ให้เติบโตต่อไปในอนาคต ผมบอกได้เลยว่าการทำงานแบบนี้ไม่ใช่เป็นการลดคน แต่เรากลับให้งานเขาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนหนึ่งอาจไม่ได้ดูแลแค่ 3 โครงการเหมือนปัจจุบัน แต่อาจต้องดูแลถึง 6 โครงการ แต่พวกเขาก็พร้อมใจที่จะดูแล และรับผิดชอบ”

ทั้งนั้น เมื่อพวกเขาเข้าใจความรู้สึกของลูกค้า (customer centric) จนสามารถพัฒนาสินค้า และบริการต่าง ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าเป็นอย่างดีแล้ว ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดความจงภักดีในตราสินค้า (brand loyalty) ในทางเดียวกันด้วยเพราะ “อุทัย” บอกในตอนท้ายว่า ภายในปี 2561 แสนสิริจะเป็นองค์กรที่ใช้ agile เต็มรูปแบบ และในอีก 3 เดือนข้างหน้า เราจะขยายไปยังโครงการที่เป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ (low rise), ทาวน์เฮาส์, บ้านเดี่ยว รวมถึงแผนกต่าง ๆ ที่สำคัญ ภายใน 3 ปี

เราจะ reorganize องค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างองค์กรให้เป็น dream place to work หรือองค์กรที่น่าทำงาน ให้ติด 1 ใน 10 ของประเทศไทยด้วย

ตรงนี้คือความหวังซึ่งจะเป็นจริงต่อไปในอนาคต