“ลูกน้อง” เลือก “หัวหน้า” คนแบบไหนที่อยากทำงานด้วย

หัวหน้างานมีบทบาทสำคัญในการบริหารคนและสร้างความผูกพันของลูกน้องกับองค์กร แต่กลับเป็นเรื่องท้าทายในการที่จะเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องชื่นชอบ เพราะในองค์กรคือการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายตำแหน่ง ช่วงอายุ และที่มา คงไม่มีหัวหน้าคนไหนทำงานถูกใจลูกน้องทุกคน

แต่กระนั้น การปรับตัวของหัวหน้าเพื่อมีความผูกพันกับลูกน้องที่ดีเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เพราะการเป็นที่ชื่นชอบของลูกน้องจะทำให้ลูกน้องมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน และได้ผลงานที่ดีตามมา ดังนั้นในฐานะที่อเด็คโก้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยองค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงจัดทำการสำรวจเรื่อง “หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องคนไทยอยากทำงานให้” โดยแบ่งพนักงานออกเป็น 4 เจเนอเรชั่นในหลายธุรกิจและระดับชั้นของตำแหน่งงานที่แตกต่างกัน

“ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์” ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคที่ Gig Economy เติบโต เป็นยุคที่หัวหน้างานจะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นในการบริหารลูกน้อง เพราะสังคมทางเศรษฐกิจดังกล่าวเข้ามาเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในปัจจุบัน เป็นสังคมที่คนชอบทำงานบนความยืดหยุ่นและไม่ผูกมัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

“ฉะนั้น หัวหน้าเป็นปัจจัยต้น ๆ ที่ทำให้ลูกน้องเลือกที่จะอยู่หรือไปจากองค์กร หัวหน้าจึงต้องเรียนรู้ความแตกต่างและความต้องการของลูกน้องแต่ละเจเนอเรชั่น แต่การที่จะปรับตัวเพื่อเป็นหัวหน้าที่คนอยากทำงานด้วย หากมีข้อมูลด้านบุคลิกการทำงานและความชื่นชอบของลูกน้องในแต่ละเจเนอเรชั่นจะยิ่งทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ง่ายขึ้นและถูกจุด ดังนั้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อเด็คโก้จึงทำการสำรวจพนักงานคนไทยจำนวน 2,076 คน เพื่อนำข้อมูลที่ได้เผยแพร่ให้กับหัวหน้างานในไทยได้ใช้เป็นประโยชน์”

ลูกน้องเจเนอเรชั่น Baby Boomer คือคนที่เกิดในช่วงปี 2488-2507 เป็นกลุ่มคนที่ขยันทุ่มเท ทำตามกฎ และมีความจงรักภักดีสูง หัวหน้าที่ Baby Boomer อยากทำงานด้วยคือคนที่มีความยุติธรรม (76.47%) กล้าคิด กล้าตัดสินใจ (64.71%) มีเหตุผล (61.76%) รักษาคำพูด (61.76%) และรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง (58.82%)

เนื่องจากลูกน้องในเจเนอเรชั่นนี้จะทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเป็นอย่างมาก ทั้งยังให้ความสำคัญกับระบบสายการบังคับบัญชา โดยหัวหน้าที่ต้องทำงานกับลูกน้องในเจเนอเรชั่นนี้ควรมีภาวะผู้นำสูง ตัดสินใจรอบคอบ และมีความเด็ดเดี่ยว อย่างไรก็ดี หัวหน้าควรระมัดระวังเรื่องการให้ feedback ในการทำงานของลูกน้อง ควรมีศิลปะในการให้คำแนะนำ โดยเน้นที่ผลงานเป็นหลัก เนื่องจาก Baby Boomer ไม่ชอบการเสียหน้า

ลูกน้องยุคเจเนอเรชั่น X หรือคนที่เกิดในปี 2508-2523 มีความเป็นปัจเจกบุคคล เน้นสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ชอบพัฒนาตนเอง ส่งผลให้หัวหน้าที่ Gen X อยากทำงานด้วย เป็นคนที่มีความยุติธรรม (72.47%) สื่อสารชัดเจน (69.41%) มีเหตุผล (66.62%) กล้าคิดกล้าตัดสินใจ (64.23%) และให้เกียรติ (63.83%)

เนื่องจากลูกน้องในเจเนอเรชั่นนี้ให้ความสำคัญกับ work-life balance และมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า Baby Boomer ซึ่งหัวหน้าควรเข้าใจความแตกต่างระหว่าง 2 เจเนอเรชั่น ลูกน้อง Gen X ยังคาดหวังว่าเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ท้าทายความสามารถ หัวหน้าจะยังคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ลูกน้องเจเนอเรชั่นนี้จะมีความสุข หากได้รับคำชื่นชมและเป็นที่จดจำจากผลงานและการแสดงความสามารถ

ถัดมาคือลูกน้องเจเนอเรชั่น Y คือคนที่เกิดในช่วงปี 2524-2535 ชอบหัวหน้าที่มีลักษณะมีความยุติธรรม (74.44%) สื่อสารชัดเจน (72.45%) มีเหตุผล (71.37%) ไม่เอาเปรียบลูกน้อง (70.04%) และให้เกียรติ (69.21%) จากผลการศึกษาพบว่ายิ่งลูกน้องอายุน้อยมากเท่าไร ยิ่งรักษาสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจากสถิติแสดงให้เห็นว่าลูกน้องในเจเนอเรชั่นนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล ไม่ชอบการถูกเอาเปรียบ

นอกจากนี้ หัวหน้าควรที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เป็นแบบอย่างที่ดี มีความน่าเชื่อถือ สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้อง ควรสนับสนุนเพื่อให้ลูกน้องมีกำลังใจในการทำงาน มีการสื่อสารเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน รับฟังความคิดเห็น ทำงานเป็นทีม สิ่งเหล่านี้จะทำให้หัวหน้าได้ใจลูกน้องในเจเนอเรชั่นนี้

สุดท้ายคือลูกน้องเจเนอเรชั่น Z คือคนที่เกิดในปี 2536 ถึงปัจจุบัน หัวหน้าที่ Gen Z และเด็กจบใหม่อยากทำงานด้วย ควรต้องเป็นคนรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง (77.65%) ไม่เอาเปรียบลูกน้อง (77.65%) ให้เกียรติ (71.76%) สื่อสารชัดเจน (71.76%) และมีเหตุผล (70.59%)

จากผลการศึกษาพบว่าลูกน้อง Gen Z มีความเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ Baby Boomer, Gen X และ Gen Yคุณลักษณะสำคัญของหัวหน้าในเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความสำคัญมากนักสำหรับ Gen Z หัวหน้าจึงควรให้อิสระในการทำงานแก่ลูกน้อง ให้คำปรึกษาเมื่อลูกน้องต้องการ ขณะเดียวกันหัวหน้าควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นลูกน้อง Gen Z ควรให้ความสำคัญกับเส้นทางความก้าวหน้าในสายงาน มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ชอบหัวหน้าที่รับฟังความคิดเห็น และให้ feedback ในการทำงานที่เน้นเรื่องงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

“ธิดารัตน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานของคนรุ่นตั้งแต่ Gen Y ลงมาถึง Gen Z จะเปลี่ยนจาก work-life balance ที่แบ่งแยกชัดเจน เวลางานทำงานเต็มที่ เวลาพักก็พักอย่างเต็มที่ มาเป็น work-life blended ที่การทำงานต้องคล้ายการอยู่บ้านมากขึ้น คือมีจุดให้คุณผ่อนคลายระหว่างวัน เช่น มุมอาหาร มุมนั่งเล่น มุมเล่นเกม-กีฬาต่าง ๆ มุมนวด หลายองค์กรมีนโยบายชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถบริหารเวลาได้ลงตัวยิ่งขึ้น

“ขณะเดียวกันเทคโนโลยีต่างเอื้อให้คุณสามารถทำงานได้จากทุกที่ เพราะปัจจุบันข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตคุณจะเลือกทำงานที่ไหนก็ได้เมื่อคุณสะดวก เช่น เมื่อมีเวลาว่างคุณอาจนั่งตอบเมล์ผ่านมือถือในร้านกาแฟ หรือประชุมงานจากที่บ้านผ่าน video call หรือ conference call ก็ได้ การทำงานในยุคใหม่งานจะถูกผสมผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มากกว่าจะแบ่งแยกอย่างชัดเจน”

“นอกจากเรื่องหัวหน้างานจะเป็นปัจจัยต้น ๆ ที่ดึงดูดลูกน้องให้อยู่กับองค์กร เรื่องค่าตอบแทนก็เป็นส่วนสำคัญ โดยคนรุ่นใหม่จะไม่ชอบค่าตอบแทนแบบ one size fits all แต่ชอบค่าตอบแทนที่แตกต่างกันตามผลงาน เพราะจะยิ่งผลักดันให้พวกเขาอยากทำงานให้ดีขึ้น แต่การที่หัวหน้าจะรักษาลูกน้องให้ทำงานในองค์กรไปนาน ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากลูกน้องเก่ง ๆ ลาออกจากองค์กรจะส่งผลกระทบกับองค์กรอย่างมาก ตั้งแต่เวลาในการสรรหาคนใหม่ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ดังนั้นหัวหน้าจึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนยุคต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร”

ถึงจะทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข