รมว.พิพัฒน์ พบนายจ้าง-ลูกจ้าง ถกค่าจ้างขั้นต่ำ เล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

รมว.พิพัฒน์ จับเข่าคุยผู้นำแรงงาน และหอการค้าฯ รับฟังสภาพปัญหา-ข้อเสนอแนะ ค่าจ้างขั้นต่ำ อนุสัญญา 87 และ 98 และเล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง อัพสกิลแรงงานไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วันที่ 11 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 17 รับตำแหน่งและเข้ากระทรวงเพื่อปฏิบัติงานครั้งแรกในวันที่ 7 กันยายน 2566 ก็ได้วางแผนพบปะตัวแทนลูกจ้างและนายจ้างเพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย

ข้อเรียกร้องจากลูกจ้าง

นายพิพัฒน์พบสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา และประธานสหภาพแรงงาน 8 สหภาพ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 โดยนายพิพัฒน์กล่าวถึงสิ่งที่สภาองค์การลูกจ้างต้องการให้ผลักดัน มีดังนี้

  • การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดิม
  • เรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องลงไปดูให้ครบทุกมิติ

“สิ่งเหล่านี้ผมเอง ผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงแรงงาน จะต้องเดินหน้าร่วมมือไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากมีนโยบายอะไรออกไปก็จะต้องขอรับฟังความคิดเห็นดีเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน” นายพิพัฒน์กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน

Advertisment

อนุสัญญา 87 และ 98

ดร.ปิยรัตย์ สมามา ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานสภาสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่โตโยต้า และประธานสภาสหภาพแรงงานโตโยต้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอาเซียนมี 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ให้สิทธิการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยและแรงงานต่างประเทศ ในประเทศ ทั้งยังรับรองคนงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน

“เหตุผลที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองอาจเพราะเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากจะให้อิสระรวมตัวกันของคนทุกชาติในไทยอาจจะทำให้ภาครัฐควบคุมยาก ดังนั้น กฎหมายนี้ก็เลยยังค้างอยู่ ซึ่งก็เพราะความห่วงใยของภาครัฐด้วย ผมมองว่าอาจจะลองพิจารณารับรองให้มีสหภาพแรงงานเฉพาะคนไทยก่อน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบ และจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลต่อการแก้กฎหมายบางเรื่อง

พอถามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม “ดร.ปิยรัตย์” กล่าวว่า ไม่ได้ขาดแคลน อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้มีการชะลอตัวของอุตสาหกรรม รวมถึงการที่รถไฟฟ้าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ใช้คนน้อยลง เพราะรถไฟฟ้าใช้คนน้อยเทียบกับรถสันดาปที่ใช้เป็นพัน ๆ ขณะที่รถไฟฟ้าใช้หลักร้อย

ดร.ปิยรัตย์กล่าวด้วยว่า ได้เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องความเสมอภาคในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานเหมาช่วง ว่าอยากให้มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ จ้างเป็นพนักงานประจำ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างออกไป อาจจะได้ค่าจ้างในอัตราไม่สูงมาก แต่ทำให้พวกเขามีงานอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลอยแพ

Advertisment

แรงงาน-หอการค้า

จับเข่าคุยหอการค้าฯ เล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง

ต่อจากการพบปะกับกลุ่มผู้นำแรงงาน นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ก็ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชน หอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพิพัฒน์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการหารือกับสภาหอการค้าฯ ได้สื่อสารกันในเรื่องการพัฒนาแรงงานอย่างไรให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญ

และมีนโยบายที่จะผนึกกำลังความร่วมมือใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทย

“วันนี้เรานำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันเราก็ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำรายได้เข้าประเทศ เราจึงต้องนำแรงงานรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่มา Up Skill เพื่อทดแทนแรงงานเดิม และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่เป็นคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ และได้ค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายกับสภาแล้วจะได้หารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาแรงงานต่อไป”

ค่าจ้างขั้นต่ำ-ปัญหาขาดแรงงาน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอชื่นชมและสบายใจที่เจ้ากระทรวงได้เปิดใจและทำงานในเชิงรุก และที่สำคัญทราบว่าท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์มีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน

ซึ่งเป็นนิมิตที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาคเอกชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานประเทศไทยนั้น วันนี้ภาคเอกชนได้เสนอไป 4 ประเด็นคือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทั้งนี้ จะได้ประสานความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป