
ดร.วิรไท สันติประภพ ฝากถึงภาคธุรกิจทำเรื่องความยั่งยืน อย่ามองแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ควรมองเรื่องสังคม และธรรมาภิบาลควบคู่กัน แนะระวังอย่าติดอยู่ในกรอบการทำ CSR ใครทำก่อนชนะก่อน
วันที่ 21 กันยายน 2566 ดร.วิรไท สันติประภพ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ในงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่จัดโดยกลุ่มธุรกิจ TCP ว่า
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
องค์การสหประชาชาติให้คำนิยามคำว่า Sustainability หรือความยั่งยืนเอาไว้ว่า คือการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความจำเป็นสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ไปเบียดเบียนโลกและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม ดูแลคนที่อยู่รากฐานสังคมให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ที่ได้ให้ไว้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงว่า ปลูกป่าแล้วต้องปลูกคนด้วย นั่นหมายถึง มูลนิธิไม่ได้มุ่งแค่ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วย
เรื่องความยั่งยืนในทางปฏิบัติ เรามุ่งทำอยู่ 3 เรื่องที่เรียกกันสั้น ๆ คือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, Governance เป็นแนวคิดที่ได้มาจากประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในฝั่งตะวันตกนั้น เรื่องของ S และ G ก็คือ สังคม กับธรรมาภิบาลมีมาตรฐานที่ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนา เขามีกรอบ กฏเกณฑ์ที่เข้มแข็ง มีสวัสดิการในการดูแลสังคมดีกว่า ฉะนั้นถ้าในการทำ ESG เขาจึงมุ่งเน้นไปที่ด้าน E ก็คือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเป็นความท้าทายใหม่ของโลก และกำลังเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
“แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ผมมองว่าเรี่องสังคมและธรรมาภิบาลก็สำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบกัน ยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ขาดระบบธรรมาภิบาลที่ดี ไม่มีกฏระเบียบที่เป็นธรรม หรือยังมีการคอรัปชั่นที่อยู่ระดับสูงมาก เราจะขับเคลื่อนสังคม สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้อย่างไร
ทำไมภาคธุรกิจต้องทำเรื่องความยั่งยืน?
ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ทำไมภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน? ผมแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจจำนวนไม่น้อยมีส่วนในการเบียดเบียนทรัพยากรต่าง ๆ ธุรกิจจำนวนไม่น้อยสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม บางธุรกิจมีพฤติกรรมเบียดเบียนธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่ใน Value Chain ใช้อำนาจเหนือตลาด หรือสร้างปัญหาด้านธรรมาภิบาล ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม รวมถึงไทยด้วย
มิติที่ 2 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลต่อการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อโลจิสติกส์ การขนส่งต่าง ๆ รวมถึงกระทบค่าประกัน และน้ำสะอาดก็จะหายากมากขึ้น เราจะเห็นว่าเริ่มเห็นปัญหาคนย้ายถิ่นฐานในหลายภูมิภาค เพราะไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้
มิติที่ 3 กฏเกณฑ์กติกา ภาครัฐในหลายประเทศ ออกมาเพื่อตอบปัญหาในอดีต ไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นการคาดหวังให้ภาครัฐเป็นผู้นำเรื่องความยั่งยืน อาจจะเกิดผลยาก เนื่องจากภาครัฐก็ยังขาดแคลนบุคลากร ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน
มิติที่ 4 ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญกับกฏเกณฑ์หรือกติกาใหม่ ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอน อย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เกี่ยวข้องกับการส่งออก หรือกฏระเบียบเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมการบิน กฎหมายแรงงาน สิทธิมนุษยชน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น ฉะนั้นภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัว
มิติที่ 5 ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะคนรุ่นใหม่เขาต้องรับภาระ ปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต คนรุ่นใหม่คาดหวังให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็อาจจะหมายถึงลูกค้า พนักงานของเราในอนาคต
“ในต่างประเทศ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาไปไกลมาก จะทำธุรกิจ ต้องได้รับอนุญาตจากสังคมด้วย ทั้งยังคาดหวังว่าธุรกิจจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจไม่ใช่องค์กรการกุศล ยังต้องแสวงหากำไร เวลาพูดเรื่องความยั่งยืน ผมมักจะใช้ความหมายสั้น ๆ ว่า การทำธุรกิจ เป็นการทำงานที่ทำให้ธุรกิจชนะ และสังคมวัฒนาไปพร้อม ๆ กัน”
ฝาก 3 ข้อที่ภาคธุรกิจควรระวัง
ดร.วิรไทกล่าวอีกว่า ข้อสังเกตจากการทำเรื่องความยั่งยืนที่ผ่านมา พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัททำเรื่องนี้มากขึ้น แต่บางบริษัทก็เพิ่งจะเริ่มทำ และมี 3 ประเด็นที่น่าสนใจคือ
ประเด็นแรก คือเราต้องระวังไม่ให้ติดอยู่ในกรอบการทำ CSR บางคนคิดว่าการทำความยั่งยืน ต่อยอดมาจาก CSR ซึ่งจริง ๆ แตกต่างกันมาก เพราะ CSR ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ core business แต่เป็นความต้องการจากภายนอก หรือความต้องการของสังคม ความต้องการของผู้บริหารระดับสูง
อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณ CSR ก็มักจะถูกจัดสรรมาจากกำไรในแต่ละปี บางครั้งไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักเท่าไหร่ และมักจะให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเป็นผู้นำหลัก และ CSR มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ค่าใช้จ่าย แต่ถ้าทำเรื่องความยั่งยืนต้องมองว่าเป็นเรื่องการลงทุน สิ่งที่ทำก็มักจะสอดคล้องในธุนกิจหลักของตนเอง ดังนั้นวันนี้เราเห็นธุรกิจจำนวนมากในไทยที่เคลื่อนจาก CSR มาสู่ความยั่งยืน ผนึกในกลยุทธ์จริงจังแล้ว
ประเด็นที่สอง สิ่งที่ควรระวังคือการทำเรื่องความยั่งยืน มีแรงกดดันจากภายนอกมาก โดยเฉพาะเรื่องการวัดผล เพราะมีตัวชี้วัด มีดัชนีที่ธุรกิจต้องพยายามมุ่งทำรายงาน เพื่อให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อเด่น ๆ เพื่อให้ได้รางวัล โดยลืมมองเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่สาม จะทำอย่างไรที่เราจะให้ความสำคัญเรื่องสังคม กับธรรมาภิบาล ไม่น้อยไปกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ดร.วิรไทกล่าวด้วยว่า เรื่องความยั่งยืนต้องมุ่งพลิกโฉมองค์กร ผู้บริหารต้องมองเรื่องความเปลี่ยนแปลง และผนวกเข้าไปในกลยุทธ์การทำธุรกิจ ถ้าไม่เริ่มทำ แล้วคนอื่นทำก่อนเราก็จะกลายเป็นผู้วิ่งตาม สุดท้ายทำให้ต้นทุนสูงมาก
“ผมมองว่าความยั่งยืนเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร และจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ยกตัวอย่าง ภาคการบิน เป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมเยอะมาก เพราะมีกติกาเรื่องการปล่อยคาร์บอน เช่น สายการบิน Finnair เขาตั้งเป้าลดน้ำหนักเครื่องบินลง โดยใช้นวัตกรรมใหม่คือชั้นธุรกิจเปลี่ยนเก้าอี้ ลักษณะคล้ายโซฟาให้มีการปรับเอนแบบสไลด์ได้
หรือ Nike เมื่อ 10 ปีก่อน เคยเป็นธุรกิจที่ปล่อยน้ำเสียเยอะมาก จากการย้อมเสื้อผ้ากีฬา จึงลงทุนหาเทคโลยีย้อมผ้าแบบใหม่โดยไม่ใช้น้ำ จนกลายเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนั้น และกำลังเป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องนี้ในอุตสาหกรรมเขา ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้”
ทำก่อนชนะก่อน
“สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารให้ลูกค้า และสังคมรับรู้ว่าธุรกิจกำลังทำอะไรอยู่ ใครทำก่อนมีโอกาสก่อน ทำอย่างไรให้ธุรกิจชนะ และสังคมวัฒนาไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญที่ผมอยากจะฝากคือให้มองกว้างๆ มองไกลๆ อย่างรอบด้าน ไม่ได้มีเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่วันนี้เรื่องสังคม ก็สำคัญ เรามีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก เช่น คอรัปชั่น หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาใหญ่ ๆ ถ้าเราไม่โฟกัสประเด็นสังคม และธรรมาภิบาลด้วยมันก็จะขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ยาก”