ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว

ศรัณยู มีทองคำ-ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ศรัณยู มีทองคำ-ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ภายใต้ปณิธานแห่งการ “ให้” ของ “คุณเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ที่เคยกล่าวว่า…คนไทยให้กันได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ในที่สุด

เพียงแต่ระยะเริ่มแรกอาจเริ่มแจกผ้าห่มก่อน เพราะขณะนั้น เมื่อถึงฤดูหนาวราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ทางภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยต่างมีอากาศหนาวเย็นมาก จนทำให้ผู้สูงอายุ และเด็ก ๆ ไม่สามารถทนอากาศหนาวเย็นได้ บางรายถึงกับเจ็บป่วย และเสียชีวิตก็มี

ผลตรงนี้ เมื่อ “คุณหญิงวรรณา” ทราบข่าวจากโทรทัศน์ จนเกิดความห่วงใย และที่สุดจึงเกิดโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ขึ้นในปี 2543 ด้วยการนำ “ผ้าห่มผืนเขียว” ไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อช่วยบรรเทาความหนาวเย็นปีละ 2 แสนผืน โดยอาศัยความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันพิธีส่งมอบผ้าห่มโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ปีที่ 24 ณ โรงเรียนสันกลางวิทยา ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อไม่นานผ่านมาว่า แม้คุณแม่ (คุณหญิงวรรณา) จะจากพวกเราไปก่อนหน้านี้ แต่ทางไทยเบฟยังสานต่อโครงการ และจะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป

Advertisment

“ดังนั้น ถ้านับจากปีแรกที่ดำเนินโครงการ ด้วยการแจกผ้าห่มผืนเขียวปีละ 2 แสนผืน จนถึงปีนี้ เราแจกผ้าห่มผืนเขียวไปแล้วกว่า 4.8 ล้านผืน โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีหลัง นับจากกระแสอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ผนวกกับเทคโนโลยีมีความทันสมัยขึ้น

เราจึงจัดให้มีโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำขวดพลาสติกมาส่งมอบให้กับเรา เพื่อทำการคัดแยก ตัดเป็นพลาสติกย่อย ๆ ก่อนจะนำไปหลอม และขึ้นเป็นเส้นด้าย เพื่อนำไปถักทอเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก”

“ฉะนั้น ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก 1 ผืนที่ทุกคนเห็นและได้รับ จึงทำมาจากขวดพลาสติกทั้งหมด 38 ขวด ที่ไม่เพียงจะเป็นผ้าห่มที่ให้ความอบอุ่น ยังมาจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในการเก็บกลับขวดพลาสติกเหลือใช้ของทุกคน

Advertisment

ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน รวมถึงการช่วยลดมลพิษ และสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเหมือนกับที่อำเภอพานแห่งนี้ที่เรานำคาราวานผ้าห่มมาส่งมอบให้แก่พ่อแม่พี่น้องถึง 1.5 หมื่นผืน”

สำหรับโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล มีเป้าหมายเพื่อต้องการรณรงค์การปลูกจิตสำนึก ปรับเปลี่ยน และส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เสมือนเป็นการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และพลังงานในการจัดการ จนเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยลดขยะฝังกลบอีกทางหนึ่งด้วย

เพราะตลอดเวลาผ่านมา ไทยเบฟมีระบบเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงอันดับต้น ๆ ของประเทศ ด้วยปริมาณการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) กว่า 1,200 ล้านใบต่อปี และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) กว่า 300,000 ตันต่อปี ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด

“ฐาปน” กล่าวต่อว่า จากโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล เราสามารถนำขวดพลาสติกกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลปีละกว่า 7.6 ล้านขวด เพื่อผลิตเป็นผ้าห่มมากถึง 2 แสนผืนต่อปี ดังนั้น ถ้านับแต่เริ่มโครงการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรานำขวดพลาสติกมารีไซเคิลทั้งหมดกว่า 30,400,000 ขวด ทั้งยังนำมาถักทอเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกแล้วกว่า 8 แสนผืน

ถึงตรงนี้ “ศรัณยู มีทองคำ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวเสริมว่า ปัญหาภัยหนาวของจังหวัดเชียงรายเริ่มประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และทางภาคเหนือประสบภาวะภัยหนาวเป็นประจำทุกปี และเชื่อว่าปลายธันวาคม-กุมภาพันธ์คงจะเริ่มเข้าสู่ภาวะภัยหนาวอย่างรุนแรง

ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงรายสำรวจผู้ประสบภัยหนาว และผู้ที่มีความต้องการผ้าห่มกันหนาวทั้งหมด 3 แสนกว่ารายด้วยกัน ซึ่งแบ่งเป็นทั้งผู้สูงอายุ เด็กที่ไร้การอุปการะ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบความเดือดร้อน โดยในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดช่วงผ่านมาก็มีองค์กร มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ภาคเหนือพยายามเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะจังหวัดเชียงรายมีทั้งหมด 18 อำเภอ

“ดังนั้น การที่ผู้บริหารไทยเบฟ และทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยมอบผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกให้กับพ่อแม่พี่น้อง และประชาชนในจังหวัดเชียงราย กว่า 1.5 หมื่นผืน จึงถือว่าได้ช่วยบรรเทา และสร้างความอิ่มอกอิ่มใจให้กับประชาชนอย่างมาก ซึ่งผม และทางจังหวัดต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย”

ขณะที่ “ศักดิ์ชัย กาวี” ผู้อำนวยการโรงเรียนสันกลางวิทยา ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โรงเรียนของเรามีกิจกรรม และมีโครงการคัดแยกขยะอยู่ก่อนแล้ว โดยเราให้เด็กนักเรียนทำการคัดแยกขยะที่นำมาใช้ประโยชน์ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขวดพลาสติก

เพื่อคัดแยกว่าขวดไหนนำมารีไซเคิลได้ เราก็นำไปรีไซเคิล โดยใช้หลัก 7R ประกอบด้วย Reduce ลดใช้, Reuse ใช้ซ้ำ, Refill การเติม, Return การคืน, Repair/Repurpose การซ่อมแซม/การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน, Replace การแทนที่ และ Recycle รีไซเคิล

นอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังร่วมมือกับชุมชนในตำบลสันกลาง เพื่อช่วยกันคัดแยกขยะและช่วยกันรักษาความสะอาดบ้านทุกหลังในตำบล เพื่อให้ประชาชน และนักเรียนได้เรียนรู้การคัดแยกขยะกับคนในชุมชน ซึ่งโครงการดังกล่าว เราใช้บุคลากรทุกระดับชั้นของโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ทั้งหมดประมาณ 208 คน เพื่อสอนให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน พร้อมกับเรียนรู้ บอกกล่าวครอบครัวเรื่องการไม่เผาขยะ เพื่อให้โลกปลอดสารพิษอีกด้วย

“ผมมองว่าเป็นการเรียนรู้สองทางไปพร้อม ๆ กัน เพราะทางโรงเรียนจะสอนปฏิบัติ และลงมือทำจริง ขณะที่บ้านของนักเรียนเป็นการสอนให้เขานำความรู้ที่ได้ไปบอกครอบครัว เพื่อที่ว่าเมื่อเขาคัดแยกขยะเป็นแล้ว เขาจะได้นำขวดพลาสติกมาให้กับทางโรงเรียน และพวกเขาจะได้มีรายได้กลับคืนสู่ครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน”

นับเป็นการคัดแยกขยะเพื่อสร้างรายได้คืนกลับสู่ชุมชนอย่างแท้จริง