สกว. เผยผลวิจัย ชี้ครอบครัวคนกรุงความสุขต่ำสุด ส่วนคะแนนเศรษฐกิจต่ำสุดทั่วประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุม “ครอบครัวไทยอยู่ดีมีสุขเพียงใด: จากครอบครัวระยะเริ่มต้นจนถึงระยะวัยชรา (มาก)” ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การสร้างดัชนีวัดครอบครัวไทยในยุค 4.0 โดยหวังว่าการศึกษาแบบบูรณาการครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจลักษณะ การเติบโต พัฒนาการของครอบครัว รวมถึงความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่มาตรการพัฒนา หรือจัดปัจจัยเอื้อต่อความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวที่เหมาะสม และเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์” หัวหน้าโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว สกว. กล่าวว่า ครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงและลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม ความอบอุ่นลดลง ขณะเดียวกันครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ปัญหาครอบครัวแตกแยก ความรุนแรงในครอบครัว การตั้งครรภ์วัยรุ่นและทอดทิ้งสมาชิกเพิ่มขึ้น หย่าร้างเพิ่มขึ้นทำให้เด็กอาศัยอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น

จากการเก็บข้อมูลและใช้เครื่องมือวัดความอยู่ดีมีสุข 9 มิติ (สัมพันธภาพ บทบาทหน้าที่ เศรษฐกิจ พึ่งตนเอง การร่วมใจชุมชน พัฒนาด้านจิตวิญญาณ การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง) ในกลุ่มตัวอย่างจาก 5 ภูมิภาค พบว่า สตรีสูงอายุที่สามีตาย อาศัยอยู่กับลูกหรือหลาน มีความสุขน้อยที่สุด รองลงมาคือลูกที่อาศัยอยู่กับญาติ พ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น

“ผลวิจัยที่สำคัญพบว่าดัชนีชี้วัดที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ ด้านเศรษฐกิจ การช่วยตนเองทางการเงิน การออม และการให้การสงเคราะห์ยังมีความจำเป็น โดยคนภาคใต้มีความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวมากที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนด้านรายได้ต่ำ (ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน) และพอเพียงน้อยที่สุด ในส่วนของชาวกรุงเทพฯ นั้นแม้จะมีรายได้ดีแต่กลับไม่มีความสุขเท่าที่ควร”

“ทั้งนี้ จำนวนบุตรเป็นตัวชี้วัดความสุขของครอบครัวที่สำคัญ ไม่ว่าจะรวยหรือจน แต่หากมีมากเกินไปก็จะมีผลทางลบ ขณะที่ผู้พิการในบ้านเป็นตัวแปรเชิงลบที่มีความสุขน้อยลง แต่จะดีขึ้นถ้าได้อยู่กับลูกหลาน และผู้หญิงจะมีความสุขน้อยกว่าผู้ชาย เพราะคิดมากกว่าในหลายแง่มุม ขณะที่สมดุลเวลาการทำงานและชีวิตครอบครัว คนที่ไม่มีบุตรจะมีสมดุลดีกว่าคนที่มีบุตร จึงควรรณรงค์ในประเด็นนี้อย่างจริงจัง”

“และเมื่อมองในช่วงวัยพบว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยอดทน ลาออกจากงานบ่อย เพราะมีวิธีคิดต่างจากคนรุ่นก่อน มักคิดและหลายอย่างได้พร้อมๆ กัน ครอบครัวกลุ่มวัยรุ่น Gen Z มีคะแนนต่ำสุดทุกด้าน เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลสนับสนุนและพัฒนามิติย่อยทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในทุกกลุ่มรุ่น โดยกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และ Gen X เป็นกลุ่มที่มีคะแนนรวมครอบครัวอยู่ดีมีสุขสูงสุด 2 อันดับแรก”

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพัฒนาครอบครัวตามวงจรชีวิตครอบครัว “ศ.ดร.รุจา” ระบุว่า ในระยะเริ่มเลี้ยงดูบุตรเป็นระยะที่ครอบครัวมีระดับคะแนนต่ำสุด รองลงมาคือ ระยะสูงวัยมาก (อายุเกิน 80 ปีขึ้นไป) ควรพิจารณาเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้การดูแลสนับสนุนเป็นพิเศษจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง คนสูงวัยมีโอกาสซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย

“ขณะที่พ่อแม่ต้องให้เวลากับลูกและต้องการแบ่งเบาภาระ ควรให้สถานประกอบการร่วมรณรงค์เรื่องสมดุลเวลาทำงานและชีวิตครอบครัวซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวโดยรวม”

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทั้ง 9 ด้านนี้ จะต้องประเมินก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ใด จะได้ให้การช่วยเหลือถูกประเด็น รวมทั้งต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของชีวิต มีการป้องกันภาวะเสี่ยงตามพัฒนาการและการจัดการภาวะวิกฤติต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!