มธ.จับมือ 4 บริษัท ผุด EV Car ดูแลสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ CSR Talk

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีลงนามเพื่อบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือ 5 ฝ่ายเพื่อส่งเสริม “รถไฟฟ้า Car Sharing” โดย “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต พร้อมผู้บริหาร 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด, บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด และ บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด

เบื้องต้น “ผศ.ดร.ปริญญา” เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายการพัฒนาสู่ Thammasat Smart City โดยนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในมหาวิทยาลัย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับภาคเอกชนริเริ่มนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV car (electric ve-hicle) มาใช้งาน พร้อมระบบเช่าระยะสั้นหรือ car sharing ผ่านแอปพลิเคชั่น และสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย

“MOU ฉบับนี้เป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ 4 บริษัทชั้นนำผู้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ car sharing เทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกันภัยและการดูแลรักษา เพื่อให้คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร ได้ทดลองใช้เดินทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์เป็นเวลา 1 ปี”

มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนพื้นที่จอดรถ และสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 2 แห่ง พร้อมรวบรวมข้อมูลการขับขี่ สภาพจราจร คุณภาพการใช้บริการเพื่อนำไปวิเคราะห์ประเมินผล และวิจัยให้โครงการมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน หากประสบผลสำเร็จอาจนำรถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า (EV motorcycle) มาให้บริการแบบ car sharing รวมถึงการพัฒนาติดตั้ง solar rooftop เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าต่อไป

“ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ต้นเหตุหนึ่งคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ เราจึงส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า EV car ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และ MOU ฉบับนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญไม่เพียงสนับสนุน Thammasat Smart City แต่ยังช่วยเหลือโลกของเรา สร้างความตระหนักรู้แก่บุคลากรและนักศึกษาให้ความสำคัญของสภาพแวดล้อมอีกด้วย”

“โตชิฮิเดะ อาโนะ” ประธาน บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าบริษัทยินดีสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Hyundai จำนวน 2 คัน ให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทดลองใช้งานพร้อมประกันภัยชั้น 1 และสนับสนุนข้อมูลการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“รถไฟฟ้าที่บริษัทมอบให้ทดลองใช้เป็นรุ่นไอออนิค (IONIQ) มีลักษณะการออกแบบให้เป็นรถยนต์แห่งอนาคต ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 100% การชาร์จแบตเตอรี่เต็มที่สามารถวิ่งได้ระยะทาง 280 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ Thammasat Smart City ในครั้งนี้”

ขณะที่ “กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ผู้พัฒนาบริการระบบ car sharing ผ่านแอปพลิเคชั่น HAUPCAR กล่าวว่า บริษัทร่วมสนับสนุนระบบบริการผ่าน HAUPCAR Applica-tion ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกรวดเร็ว ทั้งบริการจองรถ การรับรถ การชำระเงิน บันทึกข้อมูลการเดินทางและดูแลความสะอาดรถให้ตลอดโครงการ

“การใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบ car sharing ของ HAUPCAR นอกจากทำให้ผู้ใช้งานลดค่าใช้จ่ายลงแล้ว ยังช่วยลดปริมาณมลพิษ และเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เมืองนี้สวยงามยิ่งขึ้น”

สำหรับ “ธนานันต์ กาญจนคูหา” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า FOMM ในประเทศไทย กล่าวว่าบริษัทยินดีสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า FOMM จำนวน 2 คัน พร้อมประกันภัยชั้น 1 เพื่อให้เกิดแนวทางมหาวิทยาลัยยั่งยืนและ Thammasat Smart City ต่อไป

“รถยนต์ไฟฟ้า FOMM เป็นนวัตกรรมการประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เมื่อชาร์จไฟฟ้าเต็มที่สามารถขับได้ระยะทางถึง 166 กิโลเมตร ประกอบกับโครงสร้างขนาดเล็กสะดวกเหมาะสำหรับใช้สัญจรในเมือง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่จอดรถจำกัด”

ส่วน “พูนพัฒน์ โลหารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า บริษัทยินดีสนับสนุนการติดตั้งสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า 2 จุด ณ ที่จอดรถหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 1 จุด และที่จอดรถอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อีก 1 จุด พร้อมกับอุปกรณ์การบำรุงรักษา เพื่อให้สถานีชาร์จไฟฟ้าพร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยจะบันทึกข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อให้มหาวิทยาลัยนำไปวิจัยและพัฒนาต่อไป

“MOU ครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบริษัท ที่จะได้มีส่วนร่วมสร้างการตระหนักรับรู้ถึงการลดการใช้พลังงานโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จที่จะสามารถต่อยอดไปในภาคส่วนอื่น ๆ ต่อไป”