“ชาญศิลป์” CEO ปตท. SE คือคำตอบของความยั่งยืน

หลายองค์กรให้ความสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับชีวิตชุมชนให้ดีขึ้นด้วย จนถึงวันนี้จากเดิมที่ใช้รูปแบบเงินบริจาค เปลี่ยนมาเป็นการใช้รูปแบบที่สามารถตอบโจทย์คำว่า ภาคธุรกิจและชุมชนเติบโตร่วมกันอย่าง “ยั่งยืน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน หรือ SE (social enterprise) ที่เห็นเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จัดตั้งบริษัท วิสาหกิจชุมชน จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็น SE โดยเฉพาะ

และเพื่อให้ลงลึกถึงรายละเอียด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

“ชาญศิลป์” เริ่มต้นเรื่องราวโครงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ว่า จะมุ่งเน้นไปที่การใช้รูปแบบ SE เพราะตอบโจทย์ทั้งภาคธุรกิจและสังคม พัฒนาการที่ผ่านมาทำให้พบว่ารูปแบบ SE ทำให้ ปตท.ใช้งบประมาณเท่าเดิมแต่สามารถสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงกับชุมชนได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึง ปตท.ยังได้ใช้ธุรกิจที่มีอย่างสถานีบริการน้ำมัน และร้านกาแฟอเมซอน เป็นเครื่องมือในการดูแลสังคมด้วย

รูปแบบ SE ด้วย คือ 1) ใช้สถานีบริการน้ำมันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นที่วางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรโดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่มในการเช่าที่

2) ใช้ร้านกาแฟอเมซอนเป็นพื้นที่สร้างงานให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการทางหู ฯลฯ

3) ใช้บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เข้าไปร่วมลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาชีพเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การรับซื้อเมล็ดกาแฟจากผู้ปลูก โดยให้ราคาที่ดีกว่า ภายใต้เงื่อนไขคือต้องช่วยเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าและดูแลรักษาไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบันกาแฟจากชุมชนได้วางจำหน่ายในร้านกาแฟอเมซอนอีกด้วย

“ภาพเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาจิตใจแบบ community มีจิตสาธารณะ ยังมีอีกหลายโครงการของ ปตท.หารือว่าชุมชนรอบปั๊มเราเองก็ต้องดูแลและยังเป็นลูกค้าของ ปตท.ด้วย ในช่วงที่สินค้าเกษตรขายยาก ราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม, เงาะ, ลองกอง และลำไย เรามาทำให้ปั๊มน้ำมันของเราเป็น market ใคร ๆ ก็เข้ามาขายของได้ เท่ากับว่า win-win ทั้ง 2 ฝ่าย ถามว่าถ้าชาวไร่ชาวสวนนำของมาขายก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมา และรถก็ต้องเติมน้ำมันของเรา และอาจจะใช้หรือไม่ใช้บริการของ ปตท.ก็ได้ และตอนนี้กำลังขยายไปมากกว่านั้น เช่น ความร่วมมือกับ SMEs แบงก์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ปั๊มน้ำมันของ ปตท.ยั่งยืนไปพร้อมกับสังคมและชุมชน” CEO ปตท.กล่าว

ในทางปฏิบัติแล้วรูปแบบของ social enterprise ของ ปตท.ที่ชัดเจนและอาจจะเริ่มก่อนที่จะมีรูปแบบดังกล่าวด้วยซ้ำ “ชาญศิลป์” บอกว่า การใช้เอทานอลและไบโอดีเซล (B100) ที่พัฒนามากว่า 10 ปีก็นับว่าเป็น SE แล้ว เพราะวัตถุดิบหลัก คือ กากน้ำตาล และปาล์มน้ำมัน ในขณะนั้นราคาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันปกติอย่างน้ำมันเบนซินและดีเซล แต่ในระยะยาวจะดีต่อประเทศเพราะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ในเครือ ปตท.มีโรงงาน B100 ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และถือเป็นโรงงานผลิตหลักของเครือ ปตท.ที่ใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาของ ปตท.ที่ค่อนข้างใช้เวลากว่าจะเป็นน้ำมันดีเซลที่ใช้กันในปัจจุบัน

นอกจากจะส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ปตท.ยังเป็นองค์กรใหญ่ที่เดินหน้าในโครงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็น “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” จนมาถึง ปตท.ในทุกวันนี้ “ชาญศิลป์” บอกถึงแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ปตท.ปลูกป่าอย่างมีเป้าหมาย คือ จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้า

สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า”

CEO ปตท.เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ “ปลูกป่า 1 ล้านไร่”

“ชาญศิลป์” เล่าต่ออีกว่า ในปี 2537 ที่ ปตท.เริ่มต้นที่ 1 ล้านไร่ เป็นช่วงที่แวดวงพลังงานกังวลว่าฟอสซิลอาจจะสร้างปัญหาให้กับโลกในอนาคตได้ ฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจึงต้องวางแผนสำหรับอนาคต คือ ต้องหาเครื่องมือที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพก็เห็นจะมีเพียงการปลูกป่า ทั้งที่ในขณะนั้น ปตท.อยู่ระหว่างตั้งหลักทางธุรกิจ ผลกำไรก็อยู่ที่เพียง 1,000 ล้านบาท แต่ก็พร้อมที่จะสานต่อการขยายพื้นที่ปลูกป่า ตามมาด้วยป่าวังจันทร์ ป่าในกรุง เพราะไม่ต้องการให้ประเทศเผชิญกับความแห้งแล้ง ที่สำคัญหากพื้นที่ป่าไม่ถูกทำลายจากการปลูกสวนยางทดแทน ธรรมชาติสมดุลก็คงไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

หลังจากนั้น เมื่อ ปตท.มีความเข้มแข็งทางธุรกิจอย่างมาก มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผืนป่าเพิ่มเติมอีก คือ โครงการสวนสมุนไพร และหลังจากที่ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ทำให้สถานะการเงินที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จึงตามมาด้วยโครงการป่าวังจันทร์ ป่าในกรุง จนถึงการสร้างสถาบันปลูกป่า และโครงการระดับมาสเตอร์พีซอย่าง “คุ้งบางกะเจ้า”

ชาญศิลป์ ระบุว่า แกนหลักในการดำเนินการโครงการคุ้งบางกะเจ้า หรือพื้นที่ปอดผืนใหญ่ให้กับคนกรุง คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นมากกว่าปอดของคนกรุง อาจจะเพิ่มกิจกรรมในพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

อีกความภูมิใจของ ปตท.ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ โครงการลูกโลกสีเขียว ที่ขณะนี้เครือข่ายในโครงการดังกล่าวมีประมาณ 20,000 คนแล้ว และทุกคนก็พร้อมที่จะรักษาผืนป่าอีกด้วย นับเป็นกลยุทธ์ของ ปตท. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมพร้อมทั้งสร้างอาชีพเพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับผืนป่าได้ โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ขององค์กรและชุมชนเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเรื่อง SDGs (sustainable development goals) หรือเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) อีกด้วย

ในช่วงท้าย “ชาญศิลป์” บอกว่า การเริ่มต้นในแต่ละโครงการว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้เหมือนหรือดีขึ้นจากจุดเริ่มต้น กลับยากยิ่งกว่า ด้วยเพราะบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริบทสังคม ประเทศ คน เทคที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปตท.จึงคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนได้เติบโตไปพร้อมกับ ปตท. และปลูกป่าในใจคนเพิ่มให้ได้ พร้อมทั้งให้พวกเขาได้ร่วมมือกันดูแล และทำกิจกรรมที่ให้ตระหนักคิดว่า เมื่อใช้ประโยชน์จากป่าแล้ว ต้องช่วยกันบำรุงรักษาป่าด้วย เพราะป่าก็คือ “บ้าน”